วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พุทธศาสนาแบบอินเดียในจีนและทิเบต


ในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษะวรรธนะนั้น มีนักท่องเที่ยวชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งนามว่า ยวนฉวาง (Yuan Chwang) หรือ ซ่วน-ถัง(Hsuan-tsang) ได้เดินทางเข้าไปเยือนอินเดียและได้ไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 15 ปี (พ.ศ.1172-1187)  โดยท่านได้ไปศึกษาวิชาปรัชญาโยคาจาร อยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาและได้ท่องเที่ยวไปทั่วประเทศอินเดีย ท่านได้รับการต้อนรับด้วยเกียรติยศอย่างสูงในราชสำนักของจักรวรรดิของพระเจ้าหรรษะวรรธนะ ณ ที่เมืองหลวงนครกาโนจ (Kanauj) เรื่องราวของการเดินทางของท่านที่ท่านเขียนขึ้นมาเองอยู่ในผลงานที่ชื่อว่าบันทึกชาวพุทธว่าด้วยโลกทางตะวันตก”(Buddhist Records of the Western World) ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่มีค่ายิ่งฉบับหนึ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์และอารยธรรมเอเชียของยุคนั้น



เมื่อเดินทางกลับไปที่จีนท่านซวนถังได้นำตำราและต้นฉบับภาษาสันสกฤตจำนวน 600 เล่มกลับไปด้วย และจากการได้พระอุปถัมภ์ของพระจักรพรรดิไตซุงแห่งราชวงศ์ถัง ท่านก็ได้แปลออกเป็นภาษาจีนในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของท่าน ความพยายามของท่านส่วนหนึ่งมุ่งไปที่เผยแพร่ความรู้ในหลักคำสอนของโยคาจารที่ท่านชื่นชอบ



นอกจากนั้นแล้ว ในระหว่างนี้ ซรอน-บซาน-ซัม-โป (Sron-btsan-sgam-po) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1160) ได้อภิเษกกับสองเจ้าหญิง โดยองค์หนึ่งเป็นเจ้าหญิงจากเนปาลและอีกองค์หนึ่งเป็นเจ้าหญิงจากจีน พระราชินีทั้งสองพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนา  พระนางทั้งสองได้ทรงชักนำให้พระมหากษัตริย์ทิเบตหันมานับถือพระพุทธศาสนาและได้ทำให้ทิเบตเป็นประเทศมหายานประเทศสุดท้ายที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา จากนั้นกษัตริย์ทิเบตก็ได้ทรงส่งผู้นำสารหรือทูตชื่อว่า ธอนนี สัมโภตะ ไปที่อินเดียเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาอินเดีย กับทั้งเพื่อหาทางประดิษฐ์ตัวอักษรสำหรับภาษาทิเบต และธอมมีก็ประสบความสำเร็จในภาระที่ได้รับมอบหมาย ต่อจากนั้นธอมมีก็ได้เริ่มแปลคัมภีร์ศาสนาพุทธภาคภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบตและได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวรรณคดีทิเบต  แม้ว่าจะได้รับพระราชูปถัมภ์จากพระมหากัตริย์ทิเบตแต่พระพุทธศาสนาก็ยังไม่หยั่งรากลึกในทิเบตในระหว่างศตวรรษแรกๆเพราะต้องต่อสู้กับศาสนาพื้นเมืองที่นับถือผีที่เรียกว่าบอนโป ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติและมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แปลกประหลาด ในศตวรรษต่อมามีนักปราชญาที่เป็นพระภิกษุสองรูปได้รับอาราธนาให้ไปสอนพระพุทธศาสนาในทิเบต รูปหนึ่งคือท่าน สันตะรักขิตะ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยนาลันทา ไปเป็นผู้สอนในหลักคำสอนที่แท้จริงและทำการแปลคัมภีร์ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต ส่วนอีกรูปหนึ่ง คือท่านปัทมสัมภวะ เป็นผู้ที่ท่านสันตะรักขิตแนะนำให้กษัตริย์ทิเบตนิมนต์ไปที่ทิเบตเพื่อกำจัดปัดเป่าภัยพิบัติธรรมชาติโดยใช้พลังแห่งมนตราและนำเสนอพุทธศาสนาแบบตันตรนิกายสู่ดินแดนทิเบต และนำการบูชาด้วยสัญลักษณ์เข้าไปใช้แทนที่ศาสนาแบบนับถือผีดั้งเดิมของทิเบต



ในอีก 3 ศตวรรษต่อมา ในปี พ.ศ. 1581 ท่านอตีศะ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยวิกรมสิลา ได้รับเชิญให้ใปพำนักเพื่อเป็นครูสอนพระพุทธศาสนาในทิเบต ท่านอตีศะได้ทำการปฏิรูปคำสอนตันตรนิกายโดยอิงคำสอนพื้นฐานของโยคาจารและได้ก่อตั้งนิกายกะดัมปะ(Kadampa)ซึ่งเน้นในเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ และการรักษาวินัยสงฆ์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนไม่สนับสนุนให้มีการใช้มนตราต่างๆ นิกายกะดัมปะนี้เป็นรากฐานสำหรับนิกายเกลุกปะ(Gelukpa) ซึ่งทซรองขะปะ(Tsongkhapa)ได้ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงหลังปี พ.ศ. 1900 และก็เป็นนิกายที่ท่านดาไลลามะสังกัดอยู่ นับตั้งแต่ยุคของท่านอตีศะเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติของทิเบตและก็เป็นมาโดยไม่ขาดสายตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติทิเบต.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น