วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะ และพระพุทธศาสนา


ปุษยมิตร ศุงคะ หรือปุษปัตมิตร ปกครองอินเดียระหว่าง 185-151ก่อนค.ศ. เดิมปุษยมิตรเป็นนายพลและเป็นเสนาบดีของกองทัพแห่งราชวงศ์เมารยะ เขาได้ปลงพระชนม์พระเจ้าพฤหทรถะ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์เมารยะเมื่อ 185 ก่อน ค.ศ. แล้วปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศุงคะในประวัติศาสตร์อินเดีย ปุษยมิตร ศุงคะ ได้ประกอบพิธีอัศวเมธ หรือพิธีปล่อยม้าอุปการตามประเพณีของกษัตริย์อินเดียโบราณ (เป็นพิธีฆ่าม้าบูชายัญ คือมีการปล่อยม้าอุปการให้ผ่านดินแดนต่างๆโดยมีกองทัพติดตามไปด้วย หากม้าอุปการได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์ในดินแดนที่ม้านั้นผ่านเข้าไป ก็แสดงว่ายอมโอนอ่อนยอมเป็นเมืองขึ้น แต่หากมีการขัดขืน ก็จะใช้กองทัพเข้าโรมรัน เสร็จแล้วก็จะนำม้านั้นกลับมาฆ่าบูชายัญ) ทำให้พระองค์สามารถนำดินแดนทั้งหมดทางภาคเหนือเข้ามาอยู่ในอำนาจการปกครองของพระองค์ได้สำเร็จ อาณาจักรของพระองค์ได้ขยายออกไปไกลถึงชลันธาร์ในปัญจาบดังจารึกของศุงคะที่ค้นพบที่ชลันธาร์ คัมภีร์ทิวยาวทานระบุว่าอาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ไพศาลไปจรดสาคละหรือเสียลโกต
 

ปุษยมิตร ศุงคะ เป็นพระมหากษัตริย์นับถือศาสนาฮินดู  ทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวพุทธ และกดขี่ข่มเหงศาสนาพุทธอย่างรุนแรง  ในตำนานชาวพุทธเล่มหนึ่งบอกว่าพระเจ้าปุษยมิตรทรงใช้มาตรการยุดยั้งการเผยแผ่ของศาสนาพุทธโดยถือว่า”เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของบรรดาโอรสของเหล่าศากยะ และทรงเป็นผู้ทำลายล้างศาสนาที่มีความโหดเหี้ยมมากที่สุด” ในทิวยาวทานระบุว่า ปุษยมิตร ศุงคะ ได้ทำลายสถูปและวิหารทางพระพุทธศาสนาที่สร้างโดยพระจักรพรรดิอโศกไปเป็นจำนวนมาก และพระองค์มีแนวโน้มที่จะทำลายผลงานทั้งหลายของพระเจ้าอโศก

แต่นักประวัติศาสตร์บางคนได้ปฏิเสธในเรื่องที่ว่าพระเจ้าปุษยมิตรเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา โดยระบุว่าข้ออ้างในอโศกกาวทานและทิวยาวทานล้วนแต่พูดเกินความจริง โดยเฉพาะอโศกาวทานระบุว่าพระเจ้าปุษยมิตรโจมตีราชวงศ์เมารยะข้อนี้จริง แต่ที่บอกว่าพระองค์เป็นศัตรูของพระพุทธศาสนานั้นไม่จริง เพียงแต่พระองค์ทรงลดอิทธิพลของพระพุทธศาสนาในราชสำนักของพระองค์ก็แค่นั้นเอง

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงว่าพระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะ ดังปรากฏในศิลาจารึกที่ตรงประตูของภารหุตซึ่งก่อสร้างในระหว่างที่ราชวงศ์ศุงคะกำลังรุ่งเรือง  แม้แต่เซอร์ จอห์น มาร์แชลล์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสถูปศาญจิได้รับการบูรณะโดยพระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะก่อนที่จะได้รับการบูรณะอีกครั้งโดยพระเจ้าอัคนิมิตรผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ในทำนองเดียวกัน สถูปดีโอโกธาร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างศาญจิกับภารหุตได้รับการบูรณะในช่วงเวลาเดียวกัน

ในรัชสมัยของพระเจ้าปุษยมิตรมีแต่การสงครามซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของยุคนั้น พระเจ้าปุษยมิตรได้ทำการสู้รบกับแคว้นอันธระ แคว้นจักรกาลิงคะ แคว้นอินเดีย-กรีก  แคว้นปัญจาละ และแคว้นมธุรา หลังจากที่ได้สังหารกษัตริย์พฤหทรถะกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์เมารยะในระหว่างการตรวจพลสวนสนามแล้ว พระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะก็ได้ทรงต้านทานการบุกของพวกกรีกบากเตรีย

พระมหากษัตริย์กรีกของอาณาจักรกรีก-บากเตรีย ได้โจมตีเข้ามาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือในระหว่าง 180 ก่อน ค.ศ. และในที่สุดได้ยึดดินแดนของแคว้นปัญจาบได้เกือบทั้งหมด พระมหากษัตริย์กรีกของราชวงศ์นี้ปกครองอยู่ที่เมืองมธุราช่วงระยะหนึ่งต่อจากนั้นก็ได้รณรงค์เข้ามาทางทิศตะวันออกจนถึงเมืองปาตลีบุตร แต่กองทัพของพระเจ้าปุษยมิตรสามารถผลักดันขับไล่พวกอินเดีย-กรีกเหล่านี้ได้สำเร็จ  เมืองมธุราถูกยึดคืนมาได้จากพวกกรีกและถูกปกครองโดยราชวงศ์ศุงคะมาจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ.  พระเจ้าปุษยมิต ศุงคะ สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 151 ปีก่อน ค.ศ. และโอรสของพระองค์คือพระเจ้าอัคนิมิตรก็ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น