วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับกรีซ



ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกรีซเฮลเลนิสต์กับพระพุทธศาสนา เริ่มต้นขึ้นเมื่อคราวที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเข้าไปพิชิตเอเชียน้อยและเอเชียกลางในปี 334 ก่อน ค.ศ. โดยพระองค์ได้บุกเข้าไปถึงแม่น้ำสินธุและได้สถาปนาการติดต่อโดยตรงกับอินเดียอันเป็นถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา



พระเจ้าอเล็กซานเตอร์มหาราชได้ทรงสถาปนาเมืองหลายเมืองไว้ในดินแดนแห่งใหม่ในพื้นที่ โอซัส(Oxus) และบากเตรีย(Bactria) และอาณานิคมของกรีกได้แผ่ขยายเข้าไปลึกถึงช่องแคบไคเบอร์และปัญจาบ พื้นที่เหล่านี้เป็นช่องทางผ่านที่อยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาฮินดูกูศ ซึ่งเป็นช่องทางที่ใช้ติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอินเดียกับเอเชียกลาง และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการค้าระหว่างกัน



หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเมื่อวันที่ 10  มิถุนายน ก่อน ค.ศ.323 นั้นแล้ว ไดโอโดเชีย(Diadochia) นายพลนายหนึ่งของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ก่อตั้งอาณาจักรของกรีกขึ้นมาหลายแห่งในเอเชียน้อยและในเอเชียกลาง นายพลชื่อเซลูคุส(Seleucus) ได้ก่อตั้งอาณาจักรเซลูคิดซึ่งมีอาณาเขตขยายไปไกลถึงอินเดีย ในกาลต่อมาทางด้านตะวันออกของอาณาจักรเซลูคิดได้แตกแยกออกไปเป็นอาณาจักรกรีก-บากเตรีย (ระหว่างศตวรรษที่ 3 ถึงศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ.)  ติดตามมาด้วยอาณาจักรอินเดีย-กรีก (ระหว่างศตวรรษที่ 2 ถึง ศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ.) และตามมาด้วยจักรวรรดิกุษาณ(ระหว่าง ศตวรรษที่ 1 ถึงศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.)  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกรีกและวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาได้ดำเนินมาหลายศตวรรษจวบจนกระทั่งมายุติลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยการรุกรานของพวกฮั่นขาวและต่อมาโดยการรุกรานของศาสนาอิสลาม



ในหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวถึงความพยายามของพระเจ้าอโศกมหาราชในอันที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกของกรีกเฮลเลนนิสต์ ซึ่งในขณะนั้นเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่พรมแดนของอินเดียไปจนถึงกรีซ  หลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกระบุถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของการจัดการทางการเมืองในดินแดนต่างๆของกรีกเฮลเลนนิสต์ ไม่ว่าจะในเรื่องของชื่อและสถานที่ประทับของบรรดาพระมหากษัตริย์กรีกในเวลานั้น และอ้างว่าพระมหากษัตริย์เหล่านั้นต่างให้การต้อนรับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี กล่าวคือ พระเจ้าอันติโอชุสที่ 2 แห่งอาณาจักรเซลูคิด(ระหว่าง 261-246 ก่อน ค.ศ.)  พระมหากษัตริย์ทอลเลมีที่ 2 ฟิลาเดลฟอสแห่งอียิปต์(ระหว่าง 285-247 ก่อน ค.ศ.) พระมหากษัตริย์อันติโกนุส โคนาตัส แห่งมาซีโดเนีย (ระหว่าง 276-239 ก่อน ค.ศ.) พระมหากษัตริย์มาคัสแห่งไซเรน(ระหว่าง 288-258 ก่อน ค.ศ.) และพระมหากษัตริย์อเล็กซานเตอร์แห่งอีปิลุส(ระหว่าง 272-255 ก่อน ค.ศ.)



ขณะนั้น “การชนะด้วยธรรม(ธัมมวิชัย) ประสบผลสำเร็จ ณ ที่นี้ ตามพรมแดนต่างๆ และออกไปไกลถึงหกร้อยโยชน์(4,000 ไมล์) อันเป็นสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์กรีกพระนามว่า อันติโอโคส ทรงปกครอง พ้นจากนั้นแล้วก็ได้ไปถึงยังดินแดนที่ซึ่งพระมหากษัตริย์อีก 4 พระองค์พระนามว่า ทอลเลมี, อันติโคโนส, มาคัส และอเล็กซานเดอร์ทรงปกครอง ส่วนในทางใต้นั้นเล่า ก็แผ่ไปได้ไกลในหมู่ของพวกโจละ พวกปัณฑวะ และพวกตัมระปารณิ”

ยิ่งไปกว่านั้น ตามหลักฐานของฝ่ายบาลีบอกว่า คณะสมณทูตของพระเจ้าอโศกบางท่านเป็นพระสงฆ์พุทธสัญชาติกรีก ซึ่งในข้อนี้ก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางศาสนาอย่างใกล้ชิดระหว่างวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย:


 “เมื่อพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ผู้เป็นประทีปส่องแห่งศาสนาของพระผู้พิชิต (พระเจ้าอโศก) ได้กระทำสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จสิ้นแล้ว ท่านได้ส่งพระเถระหลายรูปไปที่โน่นบ้างและที่นี่บ้าง...และคณะที่ไปที่อปรันตกะ (ประเทศตะวันตก  หมายถึงกุจารัฐ และซินด์) นั้น ท่านได้ส่งชาวกรีก (โยนก) นามว่า ธัมมะรักขิตะ ไป



จากข้อมูลที่นำเสนอนี้ แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปฏิสัมพันธ์เหล่านี้มีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด แต่ก็มีนักเขียนบางคนได้ตั้งข้อสังเกตว่าการแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างกรีกเฮลเลนิสต์กับพระพุทธศาสนาได้เริ่มเป็ผลรูปธรรมขึ้นแล้วในสมัยนั้น นักเขียนเหล่านี้บอกว่ามีประชาคมชาวพุทธปรากฏอยู่ในโลกของชาวเฮลลเลนิสต์ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองอเล็กซานเดรีย (ตามที่ระบุโดยคลีเมนต์แห่งอเล็กซานเดีย) พวกนักเขียนบอกว่ามีคณะสงฆ์ในยุคก่อนศาสนาคริสต์ชื่อเถระปูแต (Therapeutae) (น่าจะเพี้ยนจากคำบาลีว่า “เถรวาท”) “ซึ่งอาจจะเป็นพวกที่ได้แรงบันดาลใจจากคำสอนและหลักปฏิบัติของนักบวชชาวพุทธ


จากปี 100 ก่อน ค.ศ. สัญลักษณ์ “รูปดาวอยู่ในมงกุฎ” ที่มองเห็นเป็น “กงจักรที่มีซี่กำ 8 ซี่” และน่าจะได้รับอิทธิพลจากกงธรรมจักรของชาวพุทธนั้น ได้ปรากฏอยู่บนเหรียญของพระมหากษัตริย์ฮีบรูพระนามว่าอเล็กซานเดอร์เจนแนอุส (103-76 ก่อน ค.ศ.)


นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีการพบศิลาจารึกที่หลุมฝังศพของชาวพุทธในสมัยทอลเลมีอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย เป็นศิลาจารึกรูปธรรมจักร มีตัวอักษรระบุว่า “ชาวกรีกในบากเตรียและอินเดียนอกจากจะตั้งข้อสังเกตว่ามีชาวพุทธเคยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรียแล้ว นักปราชญ์บางคนก็ถึงกับระบุว่า “ต่อมาสถานที่เดียวแห่งนี้เองก็ได้กลายเป็นสถานที่ตั้งศูนย์กลางแห่งศาสนาคริสต์


ในพื้นที่ต่างๆทางตะวันตกของอนุทวีปอินเดีย มีอาณาจักรของชาวกรีกหลายอาณาจักรเข้ามาอยู่แทนที่ที่บากเตรีย(ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถานทางภาคเหนือ)  นับตั้งแต่การเข้ามาพิชิตของพระเจ้าอเล็กซานเตอร์มหาราชตั้งแต่ 326 ปีก่อน ค.ศ. อาณาจักรแรก คือ อาณาจักรของพวกเซลูคิด (323 ปี ก่อน ค.ศ.) ต่อจากนั้นก็คือ อาณาจักรกรีก-บากเตรีย (250 ปีก่อน ค.ศ.)



พระมหากษัตริย์กรีก-บากเตรียพระนามว่าเดเมทริอุสที่ 1 ได้รุกรานอินเดียใน 180 ก่อน ค.ศ. ลึกเข้าไปจนถึงกรุงปาตลีบุตร ทรงสถาปนาอาณาจักรอินเดีย-กรีกปกครองดินแดนอยู่ทางภาคเหนือของอินเดียจนกระทั่งสิ้นศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ.  พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองภายใต้พระมหากษัตริย์อินเดีย-กรีกหลายพระองค์ และกล่าวกันว่าที่พระมหากษัตริย์อินเดีย-กรีกรุกรานเข้าไปในอินเดียนั้นก็เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตรย์อินเดีย-กรีกเหล่านี้ทรงให้การสนับสนุนจักรวรรดิของราชวงศ์เมารยะ และเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาจากการปราบปรามทำลายล้างของราชวงศ์ศุงคะนั่นเอง



พระมหากษัตริย์อินเดีย-กรีกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือพระเจ้าเมนันเดอร์(ทรงปกครองระหว่าง 160-135 ก่อน ค.ศ. )หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระเจ้ามิลินท์ พระเจ้าเมนันเดอร์ทรงเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา และทรงให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาสายมหายานอย่างเดียวกับที่พระเจ้าอโศกมหาราชหรือต่อมาพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณทรงให้การอุปถัมภ์  เหรียญของพระเจ้าเมนันเดอร์มีข้อความในภาษากรีกแปลว่า กษัตริย์มหาไถ่” และจารึกในภาษาขโรษฐิมีข้อความว่า “มหาราชแห่งธรรม” การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมโดยตรงระหว่างชาวกรีกกับชาวพุทธจะเห็นได้อย่างเด่นชัดในคำสนทนาใน มิลินทปัญหา” ระหว่างพระมหากษัตริย์กรีกพระนามว่าเมนันเดอร์นี้กับพระนาคเสนในราว 160 ก่อน ค.ศ. เมื่อตอนที่พระมหากษัตริย์เมนันเดอร์สวรรคตนั้น บรรดาเมืองขึ้นต่างๆได้ให้เกียรติมาขอส่วนแบ่งของอัฐิธาตุของพระองค์แล้วนำไปบรรจุไว้ที่สถูปในแว่นแคว้นของตนๆ เช่นเดียวกับที่ชาวพุทธปฏิบัติต่อพระบรมสารีกธาตุของพระพุทธเจ้า



ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของกรีกและวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา อาจมีอิทธิพลต่อการวิวัฒนาการของนิกายมหายานด้วยก็ได้ ทั้งนี้เพราะนิกายมหายานมีการพัฒนาในรูปแบบทางปรัชญาโดยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเทพเจ้าในร่างมนุษย์ อันมีลักษณะเช่นเดียวกับเทพเจ้าของชาวกรีกเฮลเลนิสต์ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการค้นพบพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษะเหมือนคนกรีก อันเป็นพุทธศิลปะแบบกรีก-พุทธอยู่ตามที่ๆ นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ไว้ว่า “เราอาจถือว่าอิทธิพลแบบคลาสสิกนี้รวมไปถึงแนวความคิดทั่วไปของการแสดงความเป็นเทพเจ้าในร่างของมนุษย์ในรูปแบบของมนุษย์แท้ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้จักมักคุ้นกันในตะวันตก และก็เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นตัวอย่างของเป็นการนำข้อปฏิบัติของชาวตะวันตกเกี่ยวกับเทพเจ้าของพวกเขามาเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์พระพุทธรูปปางนี้.”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น