วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย


พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในช่วงหลายศตวรรษต่อจากยุคของพระเจ้าอโศกเรื่อยมา ผ่านยุคต่างๆของราขวงศ์กรีกบากเตรีย(พุทธศตวรรษที่ 3) ยุคของจักรพรรดิองค์ต่างๆของราชวงศ์กุษาน และยุคทองของราชวงศ์คุปตะ  แต่หลังจากยุคนี้แล้วพระพุทธศาสนาก็ได้เสื่อมทรามลงไปซึ่งเริ่มด้วยการรุกรานของพวกฮั่นขาวและจากการจลาจลวุ่นวายในทางการเมือง


พวกฮั่นขาวหรือพวกหูนาคือพวกชนเผ่าเร่ร่อนของเอเชียกลาง พวกนี้ได้นำกองทัพของตนบุกเข้ามาในอินเดียโดยผ่านทางพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในช่วงแรกนั้นอาณาจักรคุปตะประสบความสำเร็จในการต้านทานกองทัพของพวกฮั่นขาวนี้ได้ แต่เมื่อถูกโจมตีหลายครั้งเข้าในระหว่าง ค.ศ. 500-528 อาณาจักรคุปตะก็เกิดการอ่อนแอลงและในที่สุดก็เกิดการแตกสลาย มิหิรกุละ กษัตริย์ของฮั่น ทรงนับถือพระศิวะ พระองค์จึงได้ทำลายวัดวาอารามและปูชนียสถานและปูชนียวัตถุของชาวพุทธเกือบทั้งหมดทั้งในคันธาระและในกัษมีระ และได้เข่นฆ่าชาวพุทธอย่างโหดร้ายทารุณ มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่มากแห่งเมืองตักกสิลาซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงของชาวพุทธแห่งหนึ่งได้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง


ในระหว่างการล่มสลายของจักรวรรดิคุปตะนั้น บรรดาเจ้าชายหลายพระองค์ก็ได้จัดตั้งรัฐอิสระขึ้นมาหลายรัฐ ซึ่งบางรัฐก็เป็นรัฐนับถือศาสนาพุทธและด้วยความพยายามของรัฐเหล่านี้จึงทำให้พระพุทธศาสนาสามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตามส่วนนต่างๆของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ในทางภาคตะวันตกนั้น นายพลคนหนึ่งของราชวงศ์คุปตะได้ก่อตั้งราชวงศ์ไมตระกะขึ้นที่เมืองวลภี ในราวปี ค.ศ. 490 วัดอาอารามต่างๆได้ถูกสร้างขึ้น ณที่นี้ ซึ่งในหนึ่งศตวรรษต่อมาก็ได้เจริญเติบโตเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่เรียกว่า วลภี หรือ ทุฑฑา ตามพระนามของเจ้าชายผู้ทรงสถาปนา มหาวิทยาลัยวลภีเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอินเดียภาคตะวันตกนานกว่า 2 ศตวรรษ โยเฉพาะอย่างยิ่งได้ให้การศึกษาในระดับสูงทางด้านตรรกศาสตร์ ดาราศาสตร์ และกฎหมาย มหาวิทยาลัยวลภีเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพุทธศาสนาฝ่ายหีนยานในทิศตะวันตก  ในขณะเดียวกับที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาของฝ่ายมหายานทางด้านตะวันออก


มหาวิทยาลัยวลภีถูกทำลายในปี พ.ศ. 1318 เมื่อพวกมุสลิมโดยคำนะนำของพ่อค้าฮินดูผู้หนึ่งซึ่งประสงค์จะได้รางวัลได้เข้าโจมตีเมืองจากทางทะเล ปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยของมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ให้เห็น จะมีเหลืออยู่บ้างก็เพียงรอยสลักของชื่อมหาวิทยาลัยบนแผ่นทองเหลืองเท่านั้น


ในอินเดียทางภาคเหนือนั้น มีราชวงศ์ต่างๆเรืองอำนาจขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆจากราชวงศ์หนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกราชวงศ์หนึ่งจนกระทั่งราชวงศ์เหล่านี้ถูกเข้าแทนที่โดยกษัตริย์พระนามว่าหรรษวรรธนะในศตวรรษต่อมา  พระเจ้าหรรษะ หรือเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า หรรษะ สีลาทิตยะ ทรงก่อตั้งจักรวรรดิของพระองค์ทางอินเดียตอนเหนือและทรงปกครองระหว่าง พ.ศ. 1149-1191  ในฐานะที่เป็นจักรพรรดิชาวพุทธองค์สุดท้ายของอินเดีย ภายใต้การปกครองของพระองค์ อินเดียได้มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและอารยธรรม พระองค์ได้ใช้ตัวอย่างของพระเจ้าอโศกโดยได้อุทิศพระองค์ให้แก่งานศิลปะและสันติภาพอย่างที่มีการพูดกันว่า “ถึงทรงลืมบรรทมและลืมเสวยพระกระยาหารในตอนที่ทรงมกมุ่นอยู่กับงานศิลปะที่ดีๆ” พระองค์ได้ทรงสนับสนุนการเรียนรู้และวรรคดีและมหาวิทยาลัยนาลันทาก็อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระองค์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น