วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น



ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการในญี่ปุ่นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 1095 อันเป็นปีที่พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรปักเช หรือกุดารา ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอาณาจักของเกาหลียุคโบราณ ได้ส่งผู้แทนพร้อมด้วยพระพุทธรูปมายังพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น ในอีก 38 ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 1130 วัดพระพุทธศสานาวัดแรกก็ได้ถูกสร้างขึ้นที่เมืองโฮรโยชิใกล้กับเมืองนารา และวัดแห่งนี้ก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่เป็นอาคารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่จนถึงปัจจุบัน


ในปี พ.ศ. 1137 เจ้าชายโซโตกุ ซึ่งนับถือกันในประเทศญี่ปุ่นว่า “ทรงเป็นผู้ก่อตั้งอารยธรรมญี่ปุ่นและเป็นผู้ก่อตั้งชาติที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของญี่ปุ่น” และในพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่น ได้รับการนับถือว่า “พระเจ้าอโศกแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนารัตนะ 3 อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พอถึงช่วงนี้พระพุทธศาสนาได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น  ต่อมาเจ้าชายโซโตกุก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับแรกของญี่ปุ่น ให้มีการรวบรวมประวัติครั้งแรกของญี่ปุ่น  ให้มีการบรรยายและเขียนคำอธิบายพระสูตรต่างๆ ให้มีส่งเสริมการอุตสาหกรรม การคมนาคมและการขนส่ง ให้ก่อตั้งศูนย์กลางศาสนา ให้จัดสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า บ้านสำหรับคนชราและโรงพยาบาล ตลอดจนส่งพระสงฆ์และนักศึกษาไปตามทวีปต่างๆเพื่อศึกษาและนำศิลปะและศาสตร์ตลอดจนวัฒนธรรมที่พัฒนานะดับสูงทางพระพุทธศาสนาของจีนกลับคืนมายังประเทศญี่ปุ่น


พระพุทธศาสนาที่นารา


แม้ว่าพระพุทธศาสนาในระยะเริ่มแรกจะเข้าไปสู่ญี่ปุ่นโดยผ่านทางเกาหลี แต่ในการพัฒนาในลำดับต่อไปของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นได้ดำเนินโดยผ่านทางความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างญี่ปุ่นกับจีนโดยตรง ในปี พ.ศ. 1253 นาราถูกสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงถาวรของญี่ปุ่น จากช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นยุคนาราในปี พ.ศ. 1326 มีนิกายพระพุทธศาสนาซึ่งเรียกกันว่า หกนิกายของยุคนารา ได้ถูกนำเข้ามาเผยแผ่จากจีน คือ นิกายซันรอน(มาธยมิกะ 3 คัมภีร์), นิกานเกกอน(อวตังสกะ), นิกายฮอสโซ(โยคาจาร), นิกายริตสุ(นิกายวินัย), นิกายโชชิตสุ(สัตยสิทธิศาสตร์) และนิกายกูศะ(อภิธรรมโกศะ) บรรดานิกายทั้งหมดมี 4 นิกายแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ในขณะที่นิกายที่ 5 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนิกายซันรอน และนิกายที่ 6 อาจจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายฮอสโซ


ภายใต้การปกครองของพระจักรพรรดิโซมูแห่งนารา ญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคทองของสันติภาพที่สมบูรณ์เมื่อความสามัคคีปรองดองทางการเมืองได้ถูกเสริมสร้างขึ้นมาด้วยพลังความเป็นหนึ่งเดียวของศรัทธาในพระพุทธศาสนา และการปกครองในอุดมคติก็ได้ถูกดำเนินการโดยสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพระธรรม  พระพุทธรูปไดบุตสุ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปของพระมหาไวโรจนะพุทธะที่วัดโทไดจิในกรุงนารา ซึ่งถูกสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 1286 ก็ได้เป็นสัญลักษณ์ของความสมัครสมานสามัคคเป็นหนึ่งเดียวในครั้งนี้ ในพิธีอุทิศแด่พระมหาพุทธปฎิมาองค์นี้ พระจักรพรรดิได้ทรงประกาศต่อสาธารณะชนว่าพระองค์เป็นทาสของพระรัตนตรัย พระราชธิดาของพระองค์ คือเจ้าหญิงโกเกน ถึงกับสละราชบัลลังก์ออกไปบวชเป็นนางภิกษุณีอยู่ชั่วเวลาหนึ่งเพื่ออุทิศพระองค์ศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา และเมื่อพระนางกลับขึ้นสู่บัลลังก์อีกครั้งหนึ่งพระนางก็ได้ทรงแต่งตั้งให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นเสนาบดีในรัฐบาลของพระนาง


สองนิกายของยุคไฮอัน

การให้การสนับสุนอย่างเข้มแข็งโดยรัฐบาลและการมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นของพระภิกษุสงฆ์และวัดวาอารามต่างๆในครั้งนี้ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ มีประชาชนเป็นจำนวนมากได้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์และเกียรติยศชื่อเสียงและทำให้ภิกษุภาวะเสื่อมทรามลงทางด้านวัตรปฏิบัติและคุณธรรม การเข้าไปเกี่ยวข้องของพระสงฆ์ในทางการเมืองยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งนี้เองเป็นเหตุให้เกิดการล่มสลายของรัฐบาลที่นครนารา และเพื่อจะหลบหนีจากอิทธิพลของพระสงฆ์ที่มีความมั่งคั่งและมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ที่ศูนย์กลางพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ที่เพิ่มพูนมากขึ้นรอบราชสำนักของญี่ปุ่น ที่ตั้งของรัฐบาลจึงได้ถูกย้ายไปอยู่ที่ไฮอัน(หรือต่อมาเรียกว่าเกียวโต) ในปี ค.ศ. 1327 ณ ที่เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ พระจักรพรรดิได้ประกาศพระราชโองการหลายต่อหลายครั้งเร่งเร้าให้พระสงฆ์ดำรงอยู่ในคุณธรรมและมีวัตรปฎิบัติที่เหมาะสม และจากจุดนี้เองได้ไปสนับสนุนให้เกิดนิกายใหม่ขึ้นมา 2 นิกาย คือ นิกานเทนได และนิกายชินกอน ซึ่งเจริญเติบโตทั้งในด้านอิทธิพลและความนิยมจนกระทั่งสิ้นสุดของยุคไฮอันในปี ค.ศ. 1727  ในขณะที่นิกายทั้งหกของนาราได้อับแสงสิ้นอิทธิพลลง ในระหว่างนี้ได้มีการเสริมสร้างให้เกิดความปรองดองระหว่างศาสนาชินโตและศาสนาพุทธโดยได้เปลี่ยนแปลงเทพเจ้าของศาสนาชินโให้เป็นพระโพธิสัตว์ ต่อจากนั้นพระพุทธศาสนาก็ได้ยุติการเป็นศาสนาสำคัญและกลายเป็นพุทธศาสนาของชาติญี่ปุ่นอย่างแท้จริง โดยเหตุนี้เองญี่ปุ่นก็จึงก้าวเข้าสู่ยุคคลาสสิคของศิลปะ วรรณคดีและศาสนา
นิกายเทนไดซึ่งอิงอยู่กับสูตรดอกบัว (สัทธรรมปุณฑริกสูตร) และเน้นที่ความสามารถของสรรพสัตว์ที่จะบรรลุพุทธภาวะได้ จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยเป็นการสังเคราะห์หลักคำสอนและหลักปฏิบัติของนิกายเทียนไท, นิกายเซน  นิกายมนตรยาน และนิกายวินัย นิกายชินกอนเป็นมนตรยานอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งสอนหลักการอันศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมอันลี้ลับ เป็นนิกายที่สอนทั้งเนื้อแท้อันเป็นสาระของคำสอนของมนตรยานดั้งเดิม และพิธีกรรมของการสาธยายมนตรา ด้วยเหตุที่สองนิกายนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวปฏิบัติอันฟอนเฟะของพระภิกษุสงฆ์ของเมืองนารา ศูนย์กลางวัดของพระเหล่านี้จึงถูกตั้งขึ้นในสถานที่ห่างไกลบนภูเขา ปรัชญาและพิธีกรรมของพระนิกายเหล่านี้ก็ยังมีความสลับซับซ้อนทำให้ไม่ง่ายนักที่ประชาชนธรรมดาจะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ในช่วงปลายของยุคไฮอัน หลักคำสอนเพื่อการหลุดพ้นโดยใช้ศรัทธาผ่านทางการจงรักภักดีต่อพระอมิดาพุทธจึงได้เริ่มพัฒนาขึ้น เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนิกายทั้งสองนั้น ประชาชนธรรมดาจะยอมรับก็เฉพาะในเรื่องความลี้ลับเหนือธรรมชาติที่ติดอยู่ในนิกายทั้งสองนั้นเท่านั้น นิกายชินกอนเกิดการฟอนเฟะมากยิ่งขึ้นจนถึงขนาดมีการสวดมนต์อ้อนวอนเพื่อขอพรขอผลประโยชน์ในทางโลกแต่เพียงอย่างเดียว ในที่สุดศูนย์กลางวัดของทั้งสองนิกายก็ได้กลายเป็นเรื่องทางโลกและฟอนเฟะไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว มีสภาพย่ำแย่เลยเถิดมากจนถึงขนาดมีทหารหรือนักรบพระมาอยู่ประจำในวัดเพื่อใช้สู้รบประหัตประหารกัน

สามนิกายของยุคกามาสุกะ

เนื่องจากเกิดสงครามบ่อยครั้ง เกิดความวิปริตปรผันทางสังคม และเกิดภัยทางธรรมชาติ จึงได้ส่งผลให้การปกครองของจักรวรรติญี่ปุนสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 1696 และเป็นการสิ้นสุดของยุคไฮอันอีกเช่นเดียวกัน ติดตามมาด้วยการเกิดขึ้นของลัทธิศักดินาและยุคกามากุระของโชกุนซึ่งกินเวลานานจวบจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 1876 ความบีบคั้นทางจิตใจอย่างใหญ่หลวงที่ประชาชนประสบในระหว่างยุคบ้านเมืองเกิดความระส่ำระสายวุ่นวายนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความง่ายให้แก่ทฤษฎีและหลักปฏิบัติของศาสนาเพื่อให้เหมาะสมกับความจำเป็นของประชาชนธรรมดา จุดนี้เองก็ได้จึงนำไปสู่การก่อกำเนิดรูปแบบของพระพุทธศาสนาที่สำคัญ 3 รูปแบบ ซึ่งเฟื่องฟูขึ้นในญี่ปุ่นยุคใหม่


1.นิกายพระพุทธศาสนาดินแดนบริสุทธิ์ หรือลัทธิอมิดาพุทธะ ที่เชื่อในเรื่องการหลุดพ้นด้วยศรัทธา เป็นนิกายที่สอนให้พึ่งพาพระเกียรติคุณของพระอมิดาพุทธะเพื่อที่จะได้ไปเกิดในสวรรค์ของโชโดในทิศตะวันตก หรือดินแดนสุขาวดี ซึ่งจะไปเกิดในที่นี้ได้ก็ด้วยการมีศรัทธาในอำนาจของพระอมิดาพทธที่จะมาช่วยและด้วยการเอ่ยนามของท่านด้วยศรัทธา ทั้งนี้ด้วยการกล่าว เนมบุตสะ ว่า “นมู อิมิตาบุตสุ”---ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระอมิตาภาพุทธะ ศรัทธาของนิกายนี้มีลัญลักษณ์เป็นพระไดบุตสุหรือพระพุทธรูปของพระอมิดาพุทธะซึ่งสร้างไว้ที่กามากุระในปี พ.ศ. 1795 พระพระพุทธศาสนารูปแบบนี้มี 2 นิกายซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันในทางประวัติศาสตร์ ดังต่อไปนี้

1.1 นิกายโจโด จัดตั้งโดยท่านโฮเนน ซึ่งดำเนินการให้ศิษยานุศิษย์สาธยายเนมบุตสุ
1.2 นิกายชิน หรือ โจโด-ชิน(ดินแดนบริสุทธิ์แท้ๆ) ก่อตั้งโดยท่านชินรัน ศิษย์ของท่านโฮเนน เป็นการปฏิรูปนิกายโจโด ท่านชินรันได้เน้นให้พึ่งพาอาศัยอำนาจภายนอกของพระอมิดาพุทธะ และความเสมอภาคของสรรพสัตว์ต่อหน้าพระพุทธเจ้า การปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความไว้เนื้อเชื่อใจในอำนาจของตนเองของบุคคลและการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในพระเกียรติคุณของพระอมิตดาพุทธะ จะต้องไม่นำมาใช้เป็นอันขาด ด้วยเหตุนี้ นิกายชินจึงยกเลิกในเรื่องวินัยของพระสงฆ์และการกระทำต่างๆที่เป็นความพยายามบากบั่นของตนเองอย่างเช่นการศึกษาหลักคำสอน การทำสมาธิ และพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งในเรื่องของการทำนายโชคชะตา  โหราศาสตร์ และการสวดมนต์ต่างๆด้วย กับทั้งไม่มีข้อแบ่งแยกระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส ท่านชินรันและผู้นำของนิกายนี้ในเวลาต่อมาก็ได้แต่งงานและดำเนินชีวิตแบบฆราวาสอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป


2. นิกายเซน เป็นนิกายนั่งสมาธิ ซึ่งเน้นที่ความมีอยู่ของพุทธภาวะดั้งเดิมในทุกสรรพสัตว์ และมีความเชื่อในการตรัสรู้ทันทีทันใดด้วยการใช้จิตแนะนำจิตโดยปราศจากการพึ่งพาถ้อยคำและตัวอักษร การปฏิบัติสมาธิ(ซาเซน)  การปฏิบัติตามหลักศีลธรรม การกระทำต่างๆในชีวิตประจำวัน และการทำงานเพื่อรับใช้มวลมนุษยชาติอย่างจริงจัง ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะได้สามารถบรรลุถึงซาโตรี หรือการรู้แจ้งเห็นจริง ในสองอนุนิกายของนิกายเซน คือนิกาย รินไซ เซน ซึ่งเน้นในเรื่องวินับที่เคร่งครัด และให้ใช้กลวิธี(โกน)ในการทำสมาธินั้นเป็นที่นิยมสำหรับสมาชิกที่เป็นทหารและของชนชั้นปกครองอย่างเช่นพวกซามูไร ในขณะที่อนุนิกาย โซโต เซน ซึ่งเน้นในเรื่องหลักทางจริยศาสตร์ การปฏิบัติแบบพระโพธิสัตว์ และการนั่งสมาธิแบบนิ่งๆแบบรอผลนั้น เป็นที่นิยมกันในหมู่ประชาชนทั่วไป


3.  นิกายนิชิเรน เป็นพระพุทธศาสนาที่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง ผู้ก่อตั้งของนิกายนี้มีชื่อว่านิชิเรน เป็นพระภิกษุที่มีจิตใจแกร่งกล้าดุจทหารและมีเลือดรักชาติ ท่านสอนว่าทุกคนควรมีศรัทธาอย่างเต็มที่ในพระศากยมุนีพุทธะผู้นิรันดร์  และว่าหลักคำสอนที่แท้จริงมีอย่างเดียวคือคำสอนของสัทธรรมปุณฑริกสูตร และว่า สันติภาพและความสุขทั้งของปัจเจกบุคคลและของชาติจะสามารถบรรลุได้ก็โดยแค่ปฏิบัติตามคำสอนที่แท้จริงนี้เท่านั้น ศิษยานุศิษย์ของนิกายนี้ถูกสอนให้มีความจงรักภักดีต่อพระสูตรและนำคำสอนไปปฏิบัติโดยการกล่าวคำซ้ำๆว่า “นะมู ไมโอ โฮเรงเก็กโย ---ขอนอบน้อมจงมีแด่สูตรดอกบัวแห่งกฎแห่งความมหัศจรรย์”  ท่านนิชิเรนทำการโจมตีนิกายอื่นๆทั้งหมดโดยประกาศว่าเป็นหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ผิดและเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของประเทศชาติ ท่านและนิกายของท่านจึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนิกายอื่นๆและประสบกับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากตลอดช่วงที่มีการปราบปราบศาสนา แม้กระนั้นก็ตาม นิกายนี้ก็ยังคงเจริญเติบโตอยู่ต่อไป ทั้งผู้ก่อตั้งและผู้ปฏิบัติตามของนิกายนี้มีความเชื่อว่าคำสอนของนิกายนี้จะได้รับการยอมรับทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว


โดยการเกิดขึ้นของนิกายใหม่เหล่านี้ ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวญี่ปุ่น หากในยุคไฮแสดงให้เห็นถึงว่าพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชาติในญี่ปุ่น ในระหว่างยุคกามากุระนี้ พระพุทธศาสนาได้บรรลุถึงความได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน วัดวาอารามต่างๆได้ถูกสร้างขึ้นในเกือบจะทุกเมืองและทุกหมู่บ้าน แม้ว่าจะมีนิกายย่อยหรืออนุนิกายปรากฏขึ้นมาในนิกายเก่าทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ไม่มีการก่อตั้งนิกายพระพุทธศาสนาที่สำคัญๆและที่มีขนาดใหญ่และใหม่ขึ้นมาในญี่ปุ่นนับแต่นั้นมา


หลังจากยุคกามากุระนั้นแล้ว ที่ตั้งของรัฐบาลโชกุนก็ได้ถูกย้ายไปอยู่ที่เกียวโต  แม้ว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองและเกิดภัยภัยธรรมชาติรุนแรงอย่างไร ภาวะผู้นำทางวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่ในตัวของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์ของนิกายเซน และศิลปะต่างๆก็ได้เฟื่องฟูขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อิทธิพลของเซนปรากฏให้เห็นในการพัฒนาเป็นรูปแบบของประเพณีการชงชา การจัดดอกไม้  การจัดสวน การวาดภาพ และงานศิลปะอย่างอื่น  ตลอดจนพัฒนาไปสู่รูปแบบของยูโด เคนโด และบูชิโด ซึ่งเป็นหลักจริยศาสตร์ของซามูไร

การปราบปราบพระพุทธศาสนา

สงครามภายในที่เกิดอย่างต่อเนื่องและการเกิดความวุ่นวายในระหว่างช่วงร้อยปีซึ่งเริ่มต้นด้วยการกบฏในปี พ.ศ. 2010 นั้น ได้นำจุดจบมาสู่ตระกูลใหญ่ๆของยุคก่อนเกือบจะทั้งหมด และยังนำมาสู่การเกิดขึ้นของครอบครัวที่มีอิทธิพลใหม่ๆบางครอบครัวและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งพระในศาสนาอื่นและพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาต่างก็เข้าร่วมในการสงครามและการสู้รบเพื่อปกป้องตนเองหรือเพื่อช่วงชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายอย่างระหว่างกลุ่มศาสนาต่างๆอย่างเช่นศิษยานุศิษย์ของท่านนิชิเรน ศิษยานุศิษย์ของท่านชินรัน และพวกทหารพระของท่านเทนได คนเหล่านี้ถึงกับเข้าฝ่ายกับฟิวดัลลอร์ดบางคนเพื่อให้ต่อสู้กับฟิวดัลลอร์ดอื่นอย่างนี้ก็มี ด้วยเหตุนี้เมื่อพวกมิชชั่นนารีคริสตังชาวโปรดุเกส เข้ามาที่ญี่ปุ่นในราวปี พ.ศ. 2100 นั้น โนบุนาคา ซึ่งตอนนั้นเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในญี่ปุ่นจึงได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของมิชชั่นนารีพวกนี้ โนบุนาคา กระทำความรุนแรงมากถึงกับเข้าโจมตีกองทัพของวัดบนภูเขาอิไอ ได้เผาวัดวาอารามเป็นจำนวนราว 3,000 วัด และได้สังหารผู้ที่พำนักอยู่ในวัดทั้งหมด ถึงแม้ว่าโนบุนาคาจะไม่สามารถเอาชนะท่านเจ้าอาวาสเคนโยแห่งโอซากาได้แต่ทั้งสองฝ่ายก็ได้ยอมรับในข้อตกลงระหว่างกัน อำนาจทางการเมืองและทางการทหารของวัดวาอารามต่างๆก็ได้เสื่อมคลายไปโดยไม่มีวันหวนกลับมาเหมือนเก่าได้อีกเลย อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นไม่เคยได้กลับมายิ่งใหญ่ในระดับเดิมได้นับแต่นั้นเป็นต้นมา


การให้การสนับสนุนของรัฐบาลต่อศาสนาคริสต์ก็ทำอยู่ได้ไม่นาน เพราะเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างพระชาวโปรกุเกสและพระชาวสเปน  และระหว่างพระชาวสเปนกับพระชาวฮอลันดา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2136ถึง พ.ศ. 2154 เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่การปราบปราบเข่นฆ่าชาวคริสตังและในที่สุดก็นำไปสู่นโยบายปิดประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2167  ในการดำเนินการเพื่อยุติอิทธิพลของศาสนาคริสต์และใช้อิทธิพลของศาสนาพุทธเพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายรัฐบาลนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นไห้หันกลับมาหาพระพุทธศาสนา ได้ทำการควบคุมสถาบันทางพระพุทธศาสนาด้วยการใช้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดของรัฐ และทำให้สถาบันเหล่านี้เป็นประโยชน์เพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ศาสนาขงจื้อได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่  ด้วยเหตุนี้สถาบันทางพุทธศาสนาต่างๆก็ได้อ่อนแอลงและกิจกรรมทางสติปัญญาทั้งปวงของศาสนาพุทธก็ได้เสื่อมถอยลง ในขณะที่ประชาชนหันเข้าหาความสุขทางโลกและแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยทางวัตถุ วัดต่างๆก็ได้ส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้ผ่านทางพิธีกรรมและความเชื่อซึ่งสนองตอบต่อเป้าหมายของทางโลกได้ และทั้งพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและพระในศาสนาอื่นต่างก็ได้ปรับตัวดำเนินชีวิตแบบสบายๆ ด้วยเหตุนี้ตลอดช่วงยุคโตกุกาวาหรือยุคเอโดะ (หว่าง พ.ศ. 2146 ถึง 2410) ซึ่งในช่วงดังกล่าวเมืองหลวงได้ถูกตั้งขึ้นที่เอโดะหรือโตเกียว จึงไม่มีการพัฒนาที่สำคัญในพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่น และในช่วงเวลานี้ก็ได้เกิดขบวนการที่จะทำให้ศาสนาชินโตเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นเสียอีกด้วย


การสร้างความทันสมัยของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นด้วยการเริ่มยุคเมจิในปี พ.ศ. 2411 อันเป็นช่วงที่อำนาจและการบริหารได้ถูกเรียกกลับจากโชกุนมาให้อยู่กับพระจักรพรรดิ นโยบายปิดประเทศได้ยุติลง และวัฒนธรรมตะวันตกได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้โดยเสรีและโดยไม่มีข้อจำกัด  ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันในอำนาจสูงสุดของพระจักรพรรดิที่ได้มาโดยผ่านทางเทพเจ้าและเพื่อเสริมสร้างลัทธิชาตินิยมให้แข็งแกร่งมากขึ้น ศาสนาชินโตจึงได้ถูกแยกออกจากศาสนาพุทธและได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนาแห่งชาติของญี่ปุ่น  ความเชื่อและการบูชาในแบบของชาวพุทธถูกห้ามมิให้นำมาใช้ในราชสำนักแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น และมีแม้กระทั่งบวนการที่เรียกว่า ไฮบุตสุ กิศากุ เพื่อที่จะกำจัดพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น  ช่วงนี้จึงเป็นช่วงวิกฤติสำหรับพระพุทธศาสนา แม้ว่าพุทธศาสนาจะสามารถฟื้นฟูพลังความเข้มแข็งขึ้นมาได้ระดับหนึ่งและรัฐบาลญี่ปุ่นจะลดความเข้มข้นของนโยบายต่อต้านพระพุทธศาสนาลงมาบ้างแล้วก็ตาม.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น