วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรากฐานของพระพุทธศาสนา : ข้อเหมือนกัน และข้อแตกต่างกัน



พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีถิ่นกำเนิดในชมพูทวีป(ทวีปที่มีต้นหว้ามาก) หรืออนุทวีปอินเดียในปัจจุบันเหมือนกัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเกิดก่อนศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประสูติในครอบครัวพราหมณ์-ฮินดู และดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีข้อเหมือนและข้อต่างกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูดังจะได้นำเสนอเป็นลำดับดังต่อไปนี้:

ข้อเหมือนกัน

1.ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เน้นในเรื่องสภาวะมายาของโลก และบทบาทของ กรรม ในการที่ทำให้บุคคลต้องผูกพันหรือติดอยู่กับโลกนี้และผูกติดอยู่กับสังสารวัฏ

2.พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัณหาเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ และเมื่อสามารถขจัดตัณหาได้แล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการดับทุกข์ ส่วนคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบางเล่ม เช่น คัมภีร์อุปนิษัท และคัมภีร์ภควัทคีตา ก็มีความเห็นว่า การกระทำถูกกระตุ้นจากตัณหาและการยึดมั่นถือมั่น ซึ่งก็จะนำไปสู่การผูกพันและความทุกข์ และว่าการกระทำที่ปราศจากความปรารถนาหรือตัณหานั้นก็จะเกิดผลนำไปสู่การหลุดพ้น

3.พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อในแนวความคิดเรื่อง กรรม ว่าเป็นตัวทำให้วิญญาณต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

4. พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เน้นย้ำในเรื่องความเมตตากรุณาและความไม่ใช้ความรุนแรงต่อสรรพสัตว์สิ่งที่มีชีวิต

5. พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อในความมีอยู่ของนรกและสวรรค์ว่ามีหลายภพภูมิ

6. พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อว่ามีเทวดาอยู่ในภพภูมิต่างๆ

7. พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อในเรื่องการปฏิบัติทางจิต เช่น การทำสมาธิ และจิตภาวนา

8. พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อในเรื่องการปลีกตัวและการสละชีวิตทางโลกว่าเป็นเงื่อนไขเพื่อการเข้าสู่ชีวิตทางจิตวิญญาณ และทั้งสองศาสนาเห็นตรงกันว่าตัณหาเป็นสาเหตุของความทุกข์

9.ปรัชญา “อัทไวตะ” ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความคล้ายคลึงกับพระพุทธศาสนาในหลายแง่มุม

10. พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีนิกายตันตระเหมือนกัน แต่ต่างกันคนละแบบเท่านั้นเอง

11. พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีถิ่นกำเนิดและวิวัฒนาการบนผืนแผ่นดินอินเดีย ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาเป็นชาวฮินดูที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อินเดียมอบให้แก่มวลมนุษยชาติ

ข้อแตกต่าง

1.ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่มีศาสดาผู้ก่อตั้ง แต่พระพุทธศาสนาก่อตั้งโดยพระพุทธเจ้าผู้ศาสดา

2.ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อในอานุภาพและความสูงสุดของพระเวท(ฤคเวท, ยชุรเวท, สามเวท, อาถรรพเวท) แต่ชาวพุทธไม่เชื่อในพระเวท

3. พระพุทธศาสนาไม่เชื่อในความมีอยู่ของวิญญาณว่ามีกำเนิดมาจากพระเจ้า แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีความเชื่อในความมีอยู่ของอาตมัน คือเชื่อว่ามีวิญญาณของบุคคลและพระพรหมซึ่งเป็นพระผู้สร้างสูงสุด (ปรมาตมัน)

4. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยอมรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์อวตารของ มหาวิษณุ ซึ่งเป็นมหาเทพองค์หนึ่งของเทพสามองค์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ชาวพุทธไม่ยอมรับว่ามีเทพองค์ใดเสมอเหมือนหรือสูงส่งเท่าพระพุทธเจ้า

5. พระพุทธศาสนาดั้งเดิมที่สอนโดยพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท หรือ พระพุทธศาสนาแบบหีนยาน ผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายนี้ เดิมจะไม่บูชาพระพุทธรูป และไม่มีความเชื่อในพระโพธิสัตว์ ส่วนพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เห็นว่าพระพุทธจ้าเป็นวิญญาณสูงสุด หรือเป็นมนุษย์สูงสุด คล้ายคลึงกับพระพรหมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และทำการบูชาพระพุทธเจ้าในรูปแบบของพระปฏิมาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

6. ชาวพุทธเห็นว่า โลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์ และเห็นว่าการสิ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ ส่วนชาวฮินดูเห็นว่า เป้าหมายสูงสุด (อรรถะ) ในชีวิต มีอยู่ 4 อย่าง กล่าวคือ ธรรมะ(หน้าที่ทางศาสนา), อรรถะ(ทรัพย์สิน หรือสมบัติทางวัตถุ), กามะ(ตัณหาและราคะ) และโมกษะ(ความหลุดพ้น)

7.ชาวฮินดูเชื่อในอาศรม 4 หรือขั้นตอนในชีวิต 4 ( พรหมจารี, คฤหัสถ์, วนปรัสถ์, สันยาสี) อาศรม 4 นี้ไม่มีการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธสามารถเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในเวลาใดก็ได้แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละบุคคล

8. ชาวพุทธมีการก่อตั้งเป็นคณะสงฆ์และมีพระภิกษุเข้ามาบวชอยู่เป็นหมู่คณะ แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นศาสนาของปัจเจกบุคล

9. พระพุทธศาสนามีแนวความเชื่อในเรื่องพระโพธิสัตว์ แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไม่มีความเชื่อในเรื่องนี้

10. พระพุทธศาสนายอมรับในความมีอยู่ของเทพและเทพธิดาบางองค์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่กำหนดฐานะให้อยู่ในที่ต่ำไม่มีความสูงส่งมากมายนัก

11. ที่พึ่ง(สรณะ) ในพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสิ่งสำคัญสามอย่างสำหรับชาวพุทธในขณะปฏิบัติตามอริยมรรค 8 ส่วนศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีทางเลือกหลายอย่างแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นหรือเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง

12. แม่ว่าทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจะมีความเชื่อในเรื่องกรรมและการกลับชาติมาเกิดเหมือนกัน แต่ทั้งสองศาสนาแตกต่างกันในแนวคิดของทั้งสองอย่างที่จะดำเนินการและมีผลกระทบต่อความมีอยู่ของบุคคลแต่ละคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น