วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนาในลังกา


ในประเทศลังกา หรือเกาะซีลอน พระมหินทเถระและคณะประสบความสำเร็จในการชักนำพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะและประชาชนชาวลังกาให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อสตรีชาวลังกามีความประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงส่งพระนางสังฆมิตตาพระภิกษุณีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระองค์เองเข้าไปตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายภิกษุณีขึ้นในลังกา นอกจากนั้นแล้วพระองค์ก็ยังได้ทรงส่งหน่อต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาไปปลูกไว้ที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งปัจจุบันต้นศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ก็ยังมีอยู่ เป็นต้นไม้ทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในช่วงเวลาไม่นานนักทั่วเกาะลังกาก็ได้กลายเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนา และจากที่นี่เองในอีกหลายศตวรรษต่อมาก็มีพระภิกษุผู้ทรงภูมิความรู้ได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อย่างเช่นประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา เพื่อฟื้นฟูหรือสร้างความมั่งคงให้แก่พระพุทธศาสนาในประเทศเหล่านี้


มีการกระทำสังคายนาขึ้นที่ลังกาภายหลังจากที่พระมหินทเถะเดินทางไปถึงได้ไม่นาน กล่าวกันว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ 4 มีพระอรหันต์จำนวน  60,000 รูปเข้าร่วมในการสังคายนา  โดยมีพระอริฏฐะซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหินทเถระเป็นประธาน แต่สังคายนาครั้งนี้ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง


การสังคายนาครั้งที่ 4 ของลังกาได้จัดขึ้นโดยพระสงฆ์  500 รูป ในปี พ.ศ. 433  ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏะคามิณีอภัย  ตำนานทางฝ่ายลังการะบุว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ 5 ในขณะที่โดยทั่วไปถือว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ 4 ความสำคัญของสังคายนาครั้งนี้คือ พระไตรปิฎกพระคัมภีร์ภาษาบาลีซึ่งถ่ายทอดกันมาทางมุขปาฐะ(ท่องจำ)มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลได้ถูกจารึกลงเป็นตัวหนังสือเป็นครั้งแรก


พระคัมภีร์ภาษาบาลีที่เรียกว่า ติปิฏกะ หรือ ไตรปิฏกะ (มีความหมายตรงตามตัวอักษรว่า ตะกร้า 3 ใบ) ถูกบันทึกลงในรูปแบบปัจจุบัน อันประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเรียกว่าวินัยปิฏก(ตะกร้าของพระวินัย)  ว่าด้วยกฎเกณฑ์วินัยของพระภิกษุประกอบด้วย 5 พระคัมภีร์ ส่วนที่ 2 เรียกว่า สุตตปิฏก(ตะกร้าของพระสูตร)  ประกอบด้วยเทศนา หรือคำสอนที่สำคัญๆของพระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญๆบางรูป  แบ่งย่อยออกเป็น 5 นิกาย หรือ  5 หมวด ส่วนที่ 3 เรียกว่า อภิธัมมปิฎก(ตะกร้าของอภิธรรม) เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบความคิดทางพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่จิตวิทยาและแง่ปรัชญา ประกอบด้วย 7 พระคัมภีร์



กล่าวกันว่ามีการทำสังคายนาอีก 4 ครั้งในลังกา แต่ไม่ได้รับการยอมรับในทางสากล ยกเว้นการสังคายนาครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าปรักกมะพาหุ ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย



ในระหว่างเก้าศตวรรษแรกหลังจากการเดินทางมาที่ลังกาของพระมหินทเถระนั้น พระพุทธศาสนาได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและได้หยั่งรากลงลึกมั่นคงในลังกาโดยการได้รับการอุปถัมภ์อย่างแข็งขันจากพระมหากษัตริย์ลังกาหลายพระองค์ ตลอดจนศรัทธาประชาชนชาวลังกาโดยทั่วไป 



พ.ศ. 855 พระบรมสาริกธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว) ได้ถูกนำจากอินเดียมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี ในปี ค.ศ. 956 พระพุทธโฆษาจารย์ นักแต่งอรรถกถาผู้ยิ่งใหญ่ได้เดินทางจากพุทธคยาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมาที่ลังกา ท่านได้เขียน คัมภีร์วิสุทธิมรรค และได้แปลอรรถกถาต่างๆจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี ตัวอย่างของท่านถูกเลียนแบบโดยท่าน ธรรมปาละ ซึ่งเดินทางมาจากอินเดียทางตอนใต้ในศตวรรษต่อมา และท่านได้เขียนอรรถถกถาอื่นๆเพิ่มเติมเป็นรูปแบบสุดท้ายของคัมภีร์อรรถกถาอย่างที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้


ในช่วงห้าศตวรรษถัดมา พุทธศตวรรษที่ 12 ถึง พุทธศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงที่เกิดความวุ่นวายขึ้นในลังกาเนื่องจากถูกอินเดียรุกรานและเกิดสงครามภายในประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองหลวงของลังกาถูกย้ายจากอนุราธปุระมาอยู่ที่โปลอนนรุวะ หรือ ปุรัตถิปุระ  ภิกษุณีสงฆ์สิ้นสุดลง และภิกษุสงฆ์ก็ใกล้จะสิ้นสุดเหมือนกัน 


ในปี พ.ศ. 1909 พระเจ้าวิชยพาหุ ซึ่งถูกชาวอินเดียขับไล่ได้เริ่มงานบูรณะพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระเจ้าอนุรุธมหาราชให้มาทำการอุปสมบทแก่ประชาชนชาวลังกา พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาคือ ปรากรมพาหุที่ 1 มหาราช ทรงรวมพระพุทธศาสนาทุกนิกายเข้าด้วยกัน ทรงแต่งตั้งพระสังฆราชาขึ้นเป็นครั้งแรก พระนามว่า สารีบุตร เพื่อทำหน้าที่ปกครองสังฆมณฑล และพระองค์ก็ทางอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1720 ต่อจากนั้นมาลังกาก็ได้กลับมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่งและจากอิทธิพลในสมัยนี้นี่เองที่การอุปสมบทของลังกาที่เรียกกันว่า ลังกาวงศ์ได้รับการยอมรับโดยประเทศไทยในปี พ.ศ. 1820


จาก พ.ศ. 2050-2340 ลังกาประสบกับการรุกรานจากต่างชาติ และถูกยึดครองโดยโปรตุเกสและฮอลันดาตามลำดับ และพระพุทธศาสนาก็ได้ต่อสู้ดิ้รนเพื่อความอยู่รอดอย่างหนัก ในระหว่างนี้มีอยู่ 2 คราวที่การอุปสมบทเกือบจะขาดตอนลงและจำเป็นต้องบูรณะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ในครั้งแรกนั้นเป็นช่วงที่โปรตุเกสเข้ายึดครองลังกา เป็นช่วงที่ต้องนิมนต์พระสงฆ์จากพม่าไปทำพิธีอุปสมบทให้แก่ชาวลังกา ครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา เมื่อ พ.ศ. 2294 พระภิกษุ 10 รูปโดยมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้าได้ถูกส่งจากประเทศไทยไปกระทำพีอุปสมบทชาวลังกาที่เมืองแคนดี พระภิกษุ สรณังกร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระจำนวนกว่าสามพันรูปที่ได้รับการอุปสมบทในคราวนั้นได้รับการสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ลังกาให้เป็นพระสังฆราชา


เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษนับแต่ราว พ.ศ. 2340 กระทั่งได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2491 พระพุทธศาสนาประสบกับขบวนการต่อต้านพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นขบวนการที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้ทำให้ผู้นำศาสนาพุทธต้องมีความกระฉับกระเฉงมุ่งมั่นที่จะปกป้องศาสนาและแห่งชาติของตนเอาไว้มากยิ่งขึ้นและก็ได้นำไปสู่การการบูรณะพระพุทธศาสนาซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งทุกวันนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น