วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างยุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายอุบาสก



ก.อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นอุบาสกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล เดิมชื่อ สุทัตต์ เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างวัดพระเชตะวันถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง 19 พรรษา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นอกจากอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า อนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่า ผู้ให้ก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสก

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.หมอชีวกโกมารภัจจ์

ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร  และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์
แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ

แต่พอดีเมื่อถึง
เวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)

ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น
พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์

เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง
ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรง เลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์

ต่อมา
ไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

หมอชีวกได้รักษา
โรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ

หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า


ด้วย
เหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระ สงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด

นอกจากนั้น
หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น