วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนาภายใต้มหากษัตริย์อินเดียหลายพระองค์



ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูอยู่ในช่วงของการพัฒนาจากศาสนาแห่งการกระทำพิธีบูชายัญไปสู่ศาสนาแห่งการแสดงความภักดีต่อพระเป็นเจ้าผู้มีนามต่างๆ เช่นพระหริ พระนารายณ์ พระวิษณุ และพระศิวะ ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกนั้นพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศรัทธาหลักของประชาชน ในขณะที่พวกพราหมณ์ก็ยังคงมีอิทธิพลและเป็นเป็นส่วนสำคัญของชนชั้นปกครอง ในทันทีที่พระเจ้าอโศกเสด็จสวรรคต ปฎิกิริยาของฝ่ายพราหมณ์ก็ได้บังเกิดขึ้น อาณาจักรของพระองค์ได้เกิดการอ่อนแอและเริ่มแตกสลาย ประมาณ 50 ปีหลังการสวรรคตของพระเจ้าอโศก พราหมณ์ปุษยมิตร ซึ่งเป็นขุนพลของกษัตริย์ราชวงศ์เมารยะได้ปลงพระชนม์กษัตริย์ของตนเองแล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์ศุงคะ


กษัตริย์ปุษยมิตรในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอินเดียทางภาคเหนือให้กลายเป็นดินแดนแห่งศาสนาพราหมณ์ ก็ได้กระทำพิธีอัศวเมธ(พิธีนำม้า้มาบูชายัญ คือปล่อยม้าอุปการให้ผ่านดินแดนต่างๆ เป็นการประกาศอำนาจจนม้านั้นกลับมา แล้วเอาม้านั้นฆ่าบูชายัญ เป็นพิธีประกาศอานุภาพของราชาธิราชในอินเดียครั้งโบราณ)ถึงสองครั้งและได้เริ่มกระทำทารุณกรรมเข่นข้าชาวพุทธ พระองค์ท่านได้ทำการเผาวัดวาอารามต่างๆของชาวพุทธ สังหารพระภิกษุในพุทธศาสนา และแม้กระทั่งมีพระราชโองการประกาศพระราชทานรางวัลให้ค่าหัวแก่คนที่สามารถสังหารชาวพุทธได้


อย่างไรก็มี กษัตริย์ปุษยมิตรก็ไม่ได้ทรงมีอานุภาพมากเท่ากษัตริย์ของราชวงศ์เมารยะ และพระพุทธศาสนาก็มิได้ถึงกับถึงจุดจบโดยความพยายามของพระองค์ แม้ว่าจะถูกเข่นฆ่าทำลายล้างอย่างไร ชาวพุทธก็ยังยืนหยัดมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย ยิ่งไปกว่านั้น พระพุทธศาสนาก็ได้เฟื่องฟูขึ้นในอาณาจักรอื่นๆทั้งในทางภาคเหนือและในทางภาคใต้ซึ่งแยกออกไปจากอาณาจักรเดิมของราชวงศ์เมารยะทั้งในช่วงก่อนและในระหว่างการปกครองของกษัตริย์ปุษยมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์อย่างแข่งขันจากกษัตริย์อินโดกรีกพระนามว่า เมนันเดอร์ หรือ พระเจ้ามิลินท์.


เมนันเดอร์ (Menander)หรือ มิลินท์ (Milinda) เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งปกครองอาณาจักรชาวกรีกบากเตรียในทางภาคตะวันเฉียงเหนือของอินเดียในช่วงเดียวกับการปกครองของกษัตริย์ปุษยมิตร พระองค์เป็นชาวพุทธ เป็นนักปราชญ์และเป็นองค์องค์อุปถัมภ์ที่ยิ่งใหญ่ของศาสนา คำสนทนาที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาระหว่างพระยามิลินท์และพระนาคเสนเถระถูกบันทึกไว้ใน มิลินทปัญหา อันเป็นผลงานภาคภาษาบาลีที่มีชื่อเสียงที่ถูกตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้  โดยอาศัยอิทธิพลของของกรีก ก็ได้ปรากฏการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเป็นครั้งแรก และในช่วงศตวรรษนี้เองการสร้างพระพุทธรูปจึงกลายเป็นเรื่องปกติในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและได้พัฒนากลายเป็นสกุลศิลปะคันธาระ และต่อมาพระพุทธรูปสกุลนี้ได้แพร่หลายและได้รับการยอมรับในดินแดนชาวพุทธทั้งปวง การสร้างพระพุทธรูปเป็นวัตถุสำหรับการบูชานี้นับว่าเป็นคูณูปการเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเพณีทางศาสนา วัดวาอาราม การวาด การปั้น การแกะสลัก และการดนตรีในอีกหลายศตวรรษต่อมา



นอกไปจากที่กล่าวแล้วข้างต้น ในเวลาเดียวกันนี้ การเคลื่อนไหวแบบใหม่ซึ่งเรียกว่ามหายานก็ได้เริ่มต้นขึ้นในอินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ  ซึ่งในที่นั้นทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานต่างก็เฟื่องฟูควบคู่กันไป  และจากที่นั่นทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานก็ได้เผยแผ่เข้าไปในเอเชียเหนือ และก็ในช่วงก่อนหน้านั้นหรือไม่ก็ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้ามิ่งตี่พระพุทธศาสนาก็ได้เผยแผ่เข้าไปไกลถึงประเทศจีน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็ได้เคลื่อนตัวลงมาอยู่ทางภาคใต้และได้เฟื่องฟูออกนอกประเทศอินเดีย ในอินเดียทางตอนเหนือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้แข่งแกร่งมากขึ้นในขณะที่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกลับอ่อนแอลง ในพุทธศตวรรษที่ 9 พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความอ่อนแอมากจนถึงกับว่าศูนย์กลางของฝ่ายเถรวาทที่พุทธคยาต้องส่งพระพุทธโฆษาจารย์ไปเกาะลังกาเพื่อแปลอรรถกถากลับมาเป็นภาษาบาลีและนำกลับคืนสู่ประเทศอินเดีย   


พุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้รับการอุปถัมภ์เป็นอย่างดีและเฟื่องฟูมากภายใต้พระเจ้ากนิษกะพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งปกครองอาณาจักรกุษาณในอินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือและปากีสถานในช่วงครึ่งต้นของพุทธศตวรรษที่ 7 และสามารถกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสมัยของพระเจ้ากนิษกะมีการพัฒนาอย่างโดดเด่นมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


เป็นที่น่าตั้งเป็นข้อสังเกตถึงพระมหากษัตริย์ห้าพระองค์ของประวัติศาสตร์อินเดีย(คือนับแต่พุทธศักราช 1 ปีจนถึงช่วงที่อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียในปี พ.ศ. 2327) ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ 3 พระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พระองค์หนึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ และอีกพระองค์หนึ่งเป็นมุสลิมซึ่งเข้ามาตั้งเป็นศาสนาใหม่ในอินเดีย


พระมหากษัตริย์พระองค์แรกและเป็นพระองค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือพระเจ้าอโศก(พ.ศ. 218-260) พระองค์ได้ทรงให้การอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาในรูปแบบดั้งเดิมจนทำให้เผยแผ่ออกไปนอกพรมแดนของอินเดียจนกลายเป็นศาสนาของโลกและได้พัฒนาเป็นวัฒนธรรมชาวพุทธของประเทศต่างๆในเอเชียใต้


พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองคือพระเจ้ากนิษกะ(พ.ศ.621-644) เป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระองค์ทรงสานต่อผลงานของพระเจ้าอโศกและทรงช่วยให้พุทธศาสนานิกายฝ่ายเหนือคือมหายานนี้ได้เผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง


พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สาม คือ พระเจ้าจันทรคุปตะที่ 2 วิกรมาทิตย์(พ.ศ.923-956) แห่งราชวงศ์คุปตะของฮินดู พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงปกครองในระหว่างที่สถาบันพระพุทธศาสนามีความเจริญมากและมีอิทธิพลมากถึงกับว่าบรรดาผู้นำของฮินดูจะต้องพึ่งพาชาวพุทธ(อย่างเช่นมีนายพลเป็นชาวพุทธ มีที่ปรึกษาเป็นชาวพุทธ เป็นต้น) และพึ่งพาสถาบันพระพุทธศาสนาเพื่อจะใช้เป็นฐานเพื่ออำนาจและความรุ่งเรืองไพบูลย์ของผู้นำเหล่านั้น  นอกจากนั้นแล้วบรรดาผู้นำเหล่านี้ก็ได้ถูกบังคับหรือถูกชี้นำให้ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อพระพุทธศาสนาหรือแม้กระทั่งว่าถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนศาสนามานับถือพุทธศาสนา


พระมหากษัตริย์องค์ที่สี่คือ พระเจ้าหรรษะ หรือ หรรษะ-วรรธนะ หรือ หรรษะ สีลาทิตยะ (พ.ศ. 1149-1191) ทรงเป็นพระจักรพรรดิชาวพุทธองค์สุดท้ายของอินเดีย ทรงทำให้ประทีปของพระพุทธศาสนาในอินเดียส่องสว่างขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆภายหลังจากที่ต้องประสบกับเคราะห์กรรมจากการรุกรานของต่างชาติและการกดขี่ข่มเหงภายในและก่อนที่จะสูญหายไปด้วยสาเหตุอย่างเดียวกันโดยสิ้นเชิงจากวงการศาสนาของอินเดีย


พระมหากษัตริย์องค์ที่ห้าและเป็นองค์สุดท้ายคือพระเจ้าอักบาร์(พ.ศ.2103-2148) พระองค์ทรงขึ้นสู่ราชบังลังก์ของจักรวรรดิโมกุลในช่วงที่มุสลิมยึดครองอินเดีย เป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดีย  พระองค์ไม่ทรงพอพระทัยที่จะอยู่กับศาสนาอื่นๆ จึงทรงตั้งศาสนาของพระองค์เองขึ้นมา เรียกว่า ดิน อิลลาฮี หรือ แปลว่า ทิพยศรัทธา (Din-i-Ilahi or the Divine Faith) ซึ่งศาสนานี้ก็ได้ตายไปพร้อมกับการสวรรคตของพระเจ้าอักบาร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น