วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 6 การอุบัติขึ้นของราชวงศ์ศุงคะ


จักรวรรดิศุงคะ (ฮินดี: शुंग राजवंश, อังกฤษ: Sunga Empire หรือ Shunga Empire) เป็นราชวงศ์มคธที่ปกครองทางตอนกลางเหนือและตะวันออกของอินเดีย และบางส่วนของทางตะวันตกเฉียงเหนือที่ปัจจุบันคือปากีสถานตั้งแต่ราว 185 ปีก่อนคริสต์ศักราชมาจนถึง 73 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดิศุงคะก่อตั้งขึ้นหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโมริยะ เมืองหลวงตั้งอยู่ที่ปาตลีบุตร ต่อมาพระมหากษัตริย์เช่นพระเจ้าภคภัทระ (Bhagabhadra) ก็ทรงตั้งราชสำนักที่วิทิศา ระหว่างสมัยของจักรวรรดิศุงคะเป็นสมัยของการสงครามทั้งกับต่างประเทศและกับศัตรูภายในท้องถิ่น

ปุษยมิตร ศุงคะ หรือปุษปัตมิตร กษัตริย์ต้นราชวงศ์ศุงคะ ปกครองอินเดียระหว่าง ก่อนค.ศ. 185-151ปี เดิมทีปุษยมิตรเป็นนายพลและเป็นเสนาบดีของกองทัพราชวงศ์เมารยะ เขาได้ปลงพระชนม์พระเจ้าพฤหทรถะจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์เมารยะเมื่อ ก่อน ค.ศ.185 ปีแล้วปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศุงคะในประวัติศาสตร์อินเดีย ปุษยมิตร ศุงคะ ได้ประกอบพิธีอัศวเมธ คือพิธีฆ่าม้าบูชายัญ หรือพิธีปล่อยม้าอุปการตามประเพณีของกษัตริย์อินเดียโบราณ อันพิธีที่ถูกตำหนิเป็นอย่างยิ่งจากชาวพุทธ แต่ทำให้พระองค์สามารถนำดินแดนทั้งหมดทางภาคเหนือเข้ามาอยู่ในอำนาจการปกครองของพระองค์ได้สำเร็จ อาณาจักรของพระองค์ได้ขยายออกไปไกลถึงชลันธาร์ในปัญจาบดังจารึกของศุงคะที่ค้นพบที่ชลันธาร์ คัมภีร์ทิวยาวทานระบุว่าอำนาจการปกครองของพระองค์กว้างใหญ่ไพศาลไปจรดสาคละหรือเสียลโกต

ปุษยมิตร ศุงคะ ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์  ทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวพุทธ และทรงกดขี่ข่มเหงศาสนาพุทธ  ตำนานชาวพุทธเล่มหนึ่งบอกว่าพระเจ้าปุษยมิตรทรงใช้มาตรการยุดยั้งการเผยแผ่ของศาสนาพุทธโดยถือว่า”เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของบรรดาโอรสของเหล่าศากยะ และทรงเป็นผู้ทำลายล้างศาสนาที่มีความโหดเหี้ยมมากที่สุด” ในทิวยาวทานระบุว่า ปุษยมิตร ศุงคะ ได้ทำลายสถูปและวิหารทางพระพุทธศาสนาที่ทรงสร้างไว้โดยพระจักรพรรดิอโศกไปเป็นจำนวนมาก พระองค์มีแนวโน้มที่จะทำลายผลงานทั้งหลายของพระเจ้าอโศก ทรงกำจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยถึงกับตั้งค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าพระภิกษุได้ รูปละ ๑๐๐ ทินาร์

แต่นักประวัติศาสตร์บางคนได้ปฏิเสธในเรื่องความเป็นไปได้ที่ว่าพระเจ้าปุษยมิตรเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา โดยระบุว่าข้ออ้างในอโศกาวทานและทิวยาวทานล้วนแต่พูดเกินเลยความจริง โดยเฉพาะอโศกกาวทานน่าจะระบุแต่เพียงว่าพระเจ้าปุษยมิตรโจมตีราชวงศ์เมารยะและพระองค์เป็นศัตรูของพระพุทธศาสนาโดยทรงได้ลดอิทธิพลของพุทธศาสนาในราชสำสำนักของพระองค์แค่นั้นเอง

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นแสดงว่าพระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะ ดังปรากฏในศิลาจารึกที่ตรงประตูของภารหุตซึ่งก่อสร้างในระหว่างที่ราชวงศ์ศุงคะกำลังรุ่งเรือง  แม้แต่เซอร์ จอห์น มาร์แชลล์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสถูปศาญจิได้ถูกทำลายโดยพระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะก่อนที่จะได้รับการบูรณะโดยพระเจ้าอัคนิมิตรผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพระองค์  ในทำนองเดียวกันสถูปดีโอโกธาร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างสานจิกับภาร์หุตก็ถูกทำลายในช่วงเวลาเดียวกัน แต่หลักฐานทางโบราณคดีมักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เสมอ

ในรัชสมัยของพระเจ้าปุษยมิตรเป็นยุคของสงคราม พระเจ้าปุษยมิตรทรงสู้รบกับชาวอันธระ ชาวกาลิงคะ และชาวอินโดกรีกและแม้แต่กับอาณาจักรของปัญจาละและมธุรา หลังจากที่ได้ปลงพระชนม์ของพระเจ้าพรหทรถะในระหว่างทรงตรวจทหารกองเกียรติยศอยู่นั้นแล้ว พระเจ้าปุษยมิตรก็ได้ต้านทานการบุกรุกของชาวกรีกบักเตรียน

พวกผู้ปกครองชาวกรีกแห่งอาณาจักรกรีโก-บักเตรียนได้เข้าโจมตีอินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือในระหว่างปี 180 ก่อน ค.ศ. และได้ยึดดินแดนเกือบทั้งหมดของปัญจาบ พวกกรีกได้เข้าปกครองมธุราช่วงระยะหนึ่งจากนั้นก็ก็ได้บุกต่อไปทางด้านตะวันออกจนถึงกรุงปาตลีบุตร แต่กองทัพของพระเจ้าปุษยมิตรได้ต้านทานผลักดันกองทัพอินโดกรีกได้สำเร็จ สามารถขับไล่ทหารกรีกออกไปจากเมืองมธุราได้ และราชวงศ์ศุงคะได้ปกครองเมืองนี้อยู่จนถึงปลายศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ.

พระเจ้าปุษยมิตร แห่งราชวงศ์ศุงคะเสวยราชย์อยู่ ณ นครปาตลิบุตร ราว 26 ปี ก็สวรรคต พระราชโอรสพระนามว่า อัคนิมิตร ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปราช ผู้สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายตะวันตก มีนครวิทิศาเป็นเมืองหลวง ได้เสวยราชย์สืบต่อจากพระเจ้าปุษยมิตร แล้วพระเจ้าวสุมิตรราชโอรสพระเจ้าอัคนิมิตร และพระเจ้าภาคภัทร เสวยราชย์ต่อกันมา กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้ก็ประสบชะตากรรมคล้ายคลึงกับกษัตริย์องค์สุดท้าย ของราชวงศ์เมารยะ คือทรงอ่อนแอและเสื่อมอำนาจลงจนกลายเป็นหุ่นให้เสนาบดีพราหมณ์ในสกุล กาณวะ จับเชิดอยู่ตลอดเวลา แต่คงครองราชย์ต่อมาจนราว พ.ศ. 500 หรือ 510 ก็สิ้นราชวงศ์ศุงคะ ในรัชกาลหลัง ๆ แห่งราชวงศ์ศุงคะ นับแต่พระเจ้าอัคนิมิตรมา เป็นระยะเวลาที่มีประโยชน์ดีแก่บรรดาพุทธศาสนิก ด้วยมิได้แสดงว่าทรงเป็นศัตรูจองล้างจองผลาญพระพุทธศาสนา จึงปรากฏว่ามีพุทธศาสนิกก่อสร้างปูชนียสถานที่สำคัญ ๆ ณ บริเวณ สาญจี ตลอดจนที่ภารหุตขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และพระสถูปองค์ที่ 2 กับ ที่ 3 ณ บริเวณเนินเขาสาญจี ก็กล่าวกันว่าได้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ศุงคะในระยะนี้ด้วย นักปราชญ์ทางโบราณคดีได้สอบสวนค้นคว้าแล้วลงความเห็นกันว่า พระสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้แต่เดิมนั้น ก่อด้วยอิฐและก็เล็กกว่าปัจจุบันตั้งครึ่ง แต่พระมหาสถูปสาญจีปัจจุบันนี้วัดผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 121 ฟุตครึ่ง สูงราว 77 ฟุตครึ่ง เป็นของเสริมสร้างจากองค์เดิมโดยก่อพอกทับด้วยศิลา พร้อมทั้งกำแพงศิลาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งสูง 11 ฟุต ก็เปลี่ยนจากของเก่าที่ทำไว้ด้วยไม้ และประตูหรือโดรณที่ทำด้วยศิลาทั้งสี่ทิศก็ว่าได้สร้างขึ้นในสมัยนี้ด้วย
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น