วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 10 การขยายตัวของมหายานในอินเดีย



พุทธศาสนามหายานในอินเดียได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์กุษาณ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณ พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์คุปตะ มีการสร้างศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น พระนาคารชุน พุทธศาสนาในสมัยนี้ได้แพร่หลายไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่ง การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์คุปตะจากการรุกรานของชาวฮั่นในพุทธศตวรรษที่ 11


บันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่มาถึงอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า พุทธศาสนารุ่งเรืองในอันธระ ธันยกตกะ และ ฑราวิฑ ปัจจุบัน คือรัฐอันธรประเทศและทมิฬนาดู ยังมีชาวพุทธในเนปาล และสสันภะ ในอาณาจักรคังทา (รัฐเบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน) และ หรรษวรรธนะ เมื่อสิ้นสุดยุคอาณาจักรหรรษวรรธนะ เกิดอาณาจักรเล็กๆขึ้นมากมาย โดยมีแคว้นราชปุตให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา
จนกระทั่ง ยุคจักรวรรดิปาละในเบงกอล พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองอีกครั้ง และได้แพร่หลายไปยังสิกขิมและภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17 เมื่อจักรวรรดิปาละปกรองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์เสนะที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง


ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ความเสื่อมในอินเดียตะวันออกเริ่มตั้งแต่จักรวรรดิปาละหันไปส่งเสริมศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย ส่วนในอินเดียเหนือเริ่มเสื่อมตั้งแต่ พ.ศ. 1736 เมื่อชาวเติร์กที่นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมูฮัมหมัด คิลญี บุกอินเดียและเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งแต่ พ.ศ. 1742 เป็นต้นไป ศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่พิหาร ทำให้ชาวพุทธโยกย้ายไปทางเหนือเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยหรือลงใต้ไปที่ศรีลังกา นอกจากนั้น ความเสื่อมของศาสนาพุทธยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู ภายใต้การนำของขบวนการต่าง ๆ เช่น อัธไวตะ ภักติ และการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชลัทธิซูฟี


มหายานสองสายที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย 
พระพุทธศาสนามหายานในอินเดีย สามารถแบ่งเป็นนิกายใหญ่ๆ ได้ 2 นิกาย คือ  นิกายมาธยมิกะ และนิกายโยคาจาร ทั้งสองนิกายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงวิชาการว่า เป็นนิกายของฝ่ายมหายานที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย และต่างก็มีปรัชญาคำสอนอันลึกซึ้งที่ชวนให้นักวิชาการชาวตะวันตกทั้งหลาย ทุ่มเทศึกษากันอย่างจริงจัง  

1. นิกายมาธยมิกะ (Madhyamika)
คำว่า มาธยมิกะ แปลว่า ทางสายกลาง ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมุ่งเน้นคำสอนเรื่องทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) เป็นหลักสำคัญ แต่ทางสายกลางตามแนวคิดของนิกายมาธยมิกะ อาจห่างไกลจากสิ่งที่เราเข้าใจ นิกายมาธยมิกะถือทางสายกลางระหว่างความมีกับความไม่มี ความเที่ยงกับความไม่เที่ยง เป็นต้น กล่าวสั้นๆ นิกายนี้แสดงว่าโลกนี้มีจริงก็ไม่ใช่ ไม่มีจริงก็ไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นปฏิจจสมุปบาท (สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดำเนินไปตามเหตุปัจจัย)
         
น่าสังเกตว่าทางสายกลางตามคำสอนดั้งเดิม มีความหมายไปในเชิงจริยธรรมหรือเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติ ในขณะที่ทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะกลับมีความหมายในเชิงอภิปรัชญา ซึ่งเป็นแนวคิดอันลึกซึ้งที่ดูจะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเท่าใดนัก
 
กล่าวกันว่า นิกายมาธยมิกะเป็นนิกายแรกสุดที่แยกตัวออกมาจากมหายานกลุ่มดั้งเดิมที่มีมา ก่อนหน้านั้น โดยมีท่านนาคารชุน (Nagarajuna) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 7 ท่านนาคารชุนได้อรรถาธิบายพุทธมติด้วยระบบวิภาษวิธี (Dialectic) หรือวิธีโต้แย้งกันทาง  ความคิดเพื่อให้เข้าถึงความจริงในปรัชญานั้น จนสามารถกำจัดปรวาทีฝ่ายตรงข้ามให้พ่ายแพ้ไปทุกแห่งหน วิภาษวิธีของท่านนาคารชุน ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในวงการนักปราชญ์ทาง
พระพุทธศาสนา ทำให้มีนักคิดที่ตามมาในภายหลังยึดถือวิธีการของท่านเป็นแบบอย่างอีกมากมาย

ท่านนาคารชุนได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือ คัมภีร์มัธยมกการิกา (Madhyamakakrika) ซึ่งได้รวบรวมปรัชญามาธยมิกไว้อย่างเป็นระเบียบ สอนเรื่องศูนยตา (Sunyata) ว่าเป็นความแท้จริงขั้นสุดท้าย (อันติมสัจจะ) และเพราะเหตุที่นิกายนี้ ยึดถือศูนยตาว่าเป็นหลักสำคัญของตนด้วย ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายศูนยวาท

คัมภีร์มัธยมกการิกายังได้กล่าวอีกว่า สัจจะหรือความจริงมี 2 ชนิด คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ในสัจจะทั้ง 2 นี้ สมมติสัจจะ หมายถึง อวิชชาหรือโมหะซึ่งปิดบังความเป็นจริงจนทำให้เราเข้าใจผิดไปว่าทุกสิ่ง ทุกอย่างนั้นมีแก่นสาร ส่วนปรมัตถสัจจะ หมายถึง การหยั่งเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติ สังขารทั้งหลายไม่มีอยู่จริง เปรียบเหมือนภาพมายา แม้แต่ความหลุดพ้นก็เป็นสิ่งสมมติ เมื่อยังละสมมติสัจจะไม่ได้ก็ยังบรรลุปรมัตถสัจจะ    ไม่ได้ จากคำอธิบายตรงนี้ เราจึงตีความได้ว่า ความจริงแท้ที่มาธยมิกะกล่าวถึงนั้น ไม่มีแก่นสารสาระใดๆ แต่เป็นอิสรภาพหรือความหลุดพ้นจากแก่นสารทั้งปวง 

หลักการของมาธยมิกะข้างต้น ดูจะเป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยการโต้แย้งเชิงเหตุผลที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง แต่อย่างไรก็ตามบรรดานักปราชญ์ชาวตะวันตก ยุคหลังที่ได้อ่านคัมภีร์ของนาคารชุนแล้ว ต่างก็ต้องยอมรับว่า ท่านนาคารชุนเป็นนักตรรกวิทยา ที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ไม่มีปราชญ์ชาวตะวันตกผู้ใดจะเทียบได้ แม้แต่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเองต่างก็ยอมรับในอัจฉริยภาพด้านพุทธปรัชญาของ ท่าน และยกย่องท่านไว้อย่างสูงสุดในฐานะ "พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง" ในบั้นปลายชีวิต ท่านนาคารชุนดับขันธ์ลง ณ มหาวิหารแห่งหนึ่งที่เมืองอมราวดี ในแคว้นอันธระ ทักษิณาบถ ปัจจุบันนี้ในอินเดียทางใต้ยังมีโบราณสถานแห่งหนึ่ง ซึ่งมีซากพระสถูปเจดีย์ชื่อว่า "นาคารชุนโกณฑะ"

2. นิกายโยคาจาร (Yogacara)
นิกายโยคาจารเป็นนิกายสำคัญที่เป็นคู่ปรับของนิกายมาธยมิกะ โดยมีท่านไมเตรยนาถ (Maitreya-natha) เป็นคณาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดนิกายในปลายพุทธศตวรรษที่ 8 และได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม เช่น อภิสมยาลังการะ มหายานสูตราลังการะ เป็นต้น แต่บางตำนานบอกว่า โยคาจารเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.700 เป็นต้นมา และพัฒนาถึงขีดสูงสุดประมาณปี พ.ศ.900 มีพื้นฐานทฤษฎีอยู่บนระบบการตีความเนื้อหาคัมภีร์ที่สำคัญ เช่น สันธินิรโมจนสูตร และลังกาวตารสูตร เป็นต้น

นิกายโยคาจารเจริญถึงขีดสุดในสมัยของท่านอสังคะ (Asanga) และท่านวสุพันธุ (Vasubandhu) สองพี่น้องผู้แต่งตำราออกเผยแผ่มากมาย โดยท่านอสังคะพี่ชายเป็นศิษย์คนสำคัญของท่านไมเตรยนาถ เป็นผู้อธิบายปรัชญาโยคาจารอย่างเป็นระบบต่อจากท่านไมเตรยนาถ   ส่วนน้องชายคือวสุพันธุแต่เดิมบวชเรียนอยู่ในนิกายสรวาสติวาท หรือไวภาษิกะ มาภายหลังจึงหันมานับถือมหายานนิกายโยคาจารตามพี่ชาย 

อสังคะเรียกชื่อนิกายฝ่ายตนว่า นิกายโยคาจาร (Yogacara) ส่วนวสุพันธุเรียกว่านิกายวิชญาณวาท (Vijananavada) ที่ได้ชื่อว่าโยคาจารนั้นก็เพราะใช้วิธีบำเพ็ญโยคะหรือการฝึกจิตเพื่อบรรลุ โพธิ (การรู้แจ้งความจริง) แต่ที่ชื่อว่า วิชญาณวาท ก็เพราะยึดถือจิตตมาตระหรือวิชญาปติมาตร (Vijaaptimatra) หมายถึงความไม่มีอะไรนอกจากวิญญาณ (Thought-Only, or Mind-Only) ว่าเป็นความจริงแท้ขั้นสูงสุด พูดง่ายๆ ว่า ยอมรับเฉพาะจิตหรือวิญญาณเพียงประการเดียวว่าเป็นจริง สิ่งต่างๆ นอกนั้นเป็นเพียงความคิดหรืออาการกิริยาของจิต ดังนั้นโยคาจารจึงใช้ปรัชญาไปในทางปฏิบัติ ส่วนวิชญาณวาทใช้ปรัชญาไปในทางเก็งความจริง 

นอกจากนี้ โยคาจารยังมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า ธรรมลักษณะ ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญที่ลักษณะของธรรม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โยคาจารก็ยังมีหลักการสำคัญอยู่ที่การยอมรับจิตว่าเป็นความจริงเดียวที่มี อยู่ ไม่มีความจริงอื่นนอกจากจิต

นิกายมาธยมิกะกับนิกายโยคาจารต่างเป็นคู่ปรับกันมาทุกยุคทุกสมัย เหมือนอย่างขมิ้นกับปูน ถึงขนาดห้ามสานุศิษย์ไม่ให้คบค้าสมาคมกัน มิให้ร่วมสังฆกรรม ข้อสำคัญที่ขัดแย้ง กันก็คือเรื่องสวลักษณะหรือสวภาวะ คือลักษณะหรือภาวะของตนเอง นิกายมาธยมิกะถือว่าโดยสมมติสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะในตัวของมันเอง เป็นมายาทั้งหมด และโดยปรมัตถสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นศูนย ตา  
                                              
ฝ่ายนิกายโยคาจารถือว่า โดยสมมติสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นมายาไปทั้งหมดไม่ได้ แม้มองจากภายนอกจะไม่ใช่ของจริง แต่พีชะที่มาจากอาลยวิญญาณจนเป็นบ่อเกิด ของภาพเหล่านั้นมีสวลักษณะอยู่ด้วย และโดยปรมัตถสัจจะก็ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด ยกตัวอย่าง ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสวลักษณะอยู่ภายในตัวของมันเองแล้ว คนเราทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวเองได้กระทำไว้ ถ้าไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะอยู่แล้วใครเล่าจะเป็นคนคอยรับบุญรับบาป นายปอทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็กลายเป็นคนละคนไปแล้วไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวก่อไว้ เหมือนกับปลูกมะละกอ ถ้าไม่มีสวลักษณะอยู่จริงก็กลายเป็นมะม่วงมะพร้าวไป 

สรุปแล้วนิกายทั้ง 2 ตีความหมายให้คำนิยามสวลักษณะแตกต่างกันและดูเหมือนจะแย้งกันแบบสุดโต่ง ทั้งที่จริงแล้วจุดประสงค์ของทั้ง 2 นิกายเหมือนกัน คือ เพื่อความหลุดพ้น แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันเป็นเพียงแนวทางการนำเสนอเท่านั้น โดยโยคาจารถือว่ามีจิตอยู่จริงและเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว สวลักษณะนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังรักษาคุณสมบัติเดิมเอาไว้ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยุ่งยากซับซ้อนในโลก โดยหันมาดูที่กระแสจิตของตนและบังคับควบคุม 

ส่วนมาธยมิกะถือว่าโดยที่สุดแล้วไม่มีอะไรอยู่เลย จึงยืนยันว่า ขึ้นชื่อว่าสวลักษณะแล้วจะต้องเที่ยงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งยังเสนอว่า ต้องพยายามทำตัวเองให้หลุดพ้นโดยไม่ยึดถืออะไรเลย และจุดเน้นของมาธยมิกะไม่ได้เพียงว่าไม่ยึดถืออะไรเลยเท่านั้น แต่ก้าวไปไกลถึงขนาดกล่าวว่า "โดยที่สุดแล้ว ความว่างก็ไม่มี (Emptiness of Emptiness)" ฝ่ายมาธยมิกะจึงประณามพวกโยคาจารว่าเป็นพวกสัสสตวาท (ความมีอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร) ฝ่ายโยคาจารก็ประณามพวกมาธยมิกะว่าเป็นพวกนัตถิกวาท (ความไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเป็นสาระได้) ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดความขัดแย้งจนหาจุดจบไม่ได้ ทั้งสองนิกายนี้ ก็เลยเข้าข่ายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปทั้งคู่ตามหลักคำสอนฝ่าย เถรวาท   
          
อันที่จริง โยคาจารเห็นด้วยกับมาธยมิกะเฉพาะเรื่องความไม่มีอยู่จริงของวัตถุหรืออารมณ์ ภายนอก แต่เรื่องที่เห็นว่าจิตไม่มีจริงหรือไม่มีอยู่จริงนั้น โยคาจารไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะถือว่าทรรศนะของมาธยมิกะที่ปฏิเสธว่าสูญทั้งหมดเท่ากับเป็นความเห็นผิด อย่างไม่น่าให้อภัย เพราะโยคาจารเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดเราต้องยอมรับว่าจิตเป็นสิ่งที่มีอยู่ จริง ทั้งนี้เพื่อให้ความคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จิตซึ่งประกอบด้วยกระแสแห่งความคิดชนิดต่างๆ (เจตสิก) เป็นสิ่งแท้จริงเพียงประการเดียว ดังนั้นหากจะกล่าวไปแล้ว ก็คงถือได้ว่านิกายโยคาจาร จัดว่าเป็นปรัชญาคำสอนฝ่ายอภิธรรมของมหายานที่ดูจะใกล้เคียงกับหลักคำสอนใน การปฏิบัติของฝ่ายเถรวาทมากที่สุด โดยเฉพาะข้อความในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทที่ว่า "โลกอันจิตนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างเดียว คือจิต"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น