วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 15 บทบาทของพระสาวก พระสาวิกา อุบาสก และอุบาสิกา

ตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายพระสาวก

ก.พระสารีบุตร

พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ(บางแห่งเรียกนาลันทะ)ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงมีนามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ มีน้องชาย 3 คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องสาว 3 คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีลุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปด฿แล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสงหาโมกขธรรม และต่อมาได้ไปบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสะปริพพาชก พบพระอัสสชิขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง 250 คน ไดรับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ 15 วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และ เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญขอพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็นพระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคิติสูตร และทสุตตรสูตร เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน เมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่าไว้ ณ พระเชตะวัน เมืองสาวัตถี๖อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน 12 จึงเท่ากับ 6 เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)

พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ๖นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และราธพราหมณ์๖ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ) สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว๖ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร 7 ขวบ) เป็นผู้เอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป) และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธเป็นต้น.

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.พระมหาโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของพราหมณ์นางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ๖คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็ก ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกจนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิสหายทั้งสองจึงได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้วถึงวันที่ 7 โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่ามหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุอรหัตตผล ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาลท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์ ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆว่า พระโมคคัลลาน์

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)


ตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายพระสาวิกา

ก.มหาปชาบดีโคตรมี

มหาปชาบดีโคตรมี เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่าพระนางปชาบดี เป็นธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยวงศ์ เป็นพระภินีของพระนางสิริมหามายา เมื่อพระมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้มอบพระสิทธัตถะให้พระนางเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตแล้ว พระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู(บวชนานรู้เหตุการ์ก่อนใครๆ

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.ปฏาจารา 

ปฏาจารา เป็นพระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี ได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนักเพราะสามีตายลูกตาย พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับเสียสติปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่างๆจนถึงพระเชตวัน พระศาสดาทรงแผ่เมตตา เปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย
แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ตัวอย่างยุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายอุบาสก

ก.อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นอุบาสกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล เดิมชื่อ สุทัตต์ เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างวัดพระเชตะวันถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง 19 พรรษา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นอกจากอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า อนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่า ผู้ให้ก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสก

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.หมอชีวกโกมารภัจจ์

ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร  และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์
แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ

แต่พอดีเมื่อถึง
เวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)

ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น
พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์

เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง
ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรง เลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์

ต่อมา
ไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

หมอชีวกได้รักษา
โรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ

หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า


ด้วย
เหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระ สงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด

นอกจากนั้น
หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล
แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายอุบาสิกา

ก.นางสุชาดา



นางสุชาดา  เป็นธิดาของเสนียกุฏมพี (กุฏมพี เศรษฐี, ผู้มีทรัพย์มาก) ในหมู้บ้านเสนานิคม แห่งตำบนอุรุเวลเสนานิคมา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ 2 ประการ คือ
1. ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพยสมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน
2.  ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย
ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้ง 2 ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพลีกรรมแก่ท่านด้วยของอันมีค่าหนึ่งแสนกหาปณะ
ครั้นกาลต่อมา ความปรารถาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า ยสะ นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปยาสเสร็จเรียบร้อย แล้ว ให้นางทาสีสาวใช้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น

ขณะนั้น พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หลังจากเลิกการทรมานร่างกายหันมาเสวยพระกระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ต้นไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทาทิศปราจีน (ตะวันออก) มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงเป็นเทพยดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน

ฝ่ายนางสุชาดาจึงรีบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อยแล้วยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่าเป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าใน วันนั้น หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือสุขอันเกิดจากการตรัสรู้บริเวณใกล้ ๆ นั้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ รวม 45 วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระปัจจวัคคีย์ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

นางสุชาดามีบุตรชื่อยสะ ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์ นางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกา พร้อมกับภรรยาเก่าของยสะ และได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม

แหล่งข้อมูล: วิกิพีเดีย


ข.นางวิสาขา



เป็นมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศล แล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาสามี ซึ่งนับถือนิครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศษสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา(มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ขายเครื่องประดับระจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง 120 ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะเลิศในผู้ถวายทาน ในบรรดาทายิกาทั้งปวง
 
แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น