วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 16 สอบปลายภาค

สอบปลายภาค

สัปดาห์ที่ 15 บทบาทของพระสาวก พระสาวิกา อุบาสก และอุบาสิกา

ตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายพระสาวก

ก.พระสารีบุตร

พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ(บางแห่งเรียกนาลันทะ)ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงมีนามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ มีน้องชาย 3 คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องสาว 3 คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีลุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปด฿แล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสงหาโมกขธรรม และต่อมาได้ไปบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสะปริพพาชก พบพระอัสสชิขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง 250 คน ไดรับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ 15 วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และ เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญขอพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็นพระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคิติสูตร และทสุตตรสูตร เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน เมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่าไว้ ณ พระเชตะวัน เมืองสาวัตถี๖อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน 12 จึงเท่ากับ 6 เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)

พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ๖นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และราธพราหมณ์๖ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ) สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว๖ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร 7 ขวบ) เป็นผู้เอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป) และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธเป็นต้น.

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.พระมหาโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของพราหมณ์นางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ๖คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็ก ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกจนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิสหายทั้งสองจึงได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้วถึงวันที่ 7 โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่ามหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุอรหัตตผล ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาลท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์ ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆว่า พระโมคคัลลาน์

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)


ตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายพระสาวิกา

ก.มหาปชาบดีโคตรมี

มหาปชาบดีโคตรมี เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่าพระนางปชาบดี เป็นธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยวงศ์ เป็นพระภินีของพระนางสิริมหามายา เมื่อพระมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้มอบพระสิทธัตถะให้พระนางเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตแล้ว พระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู(บวชนานรู้เหตุการ์ก่อนใครๆ

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.ปฏาจารา 

ปฏาจารา เป็นพระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี ได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนักเพราะสามีตายลูกตาย พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับเสียสติปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่างๆจนถึงพระเชตวัน พระศาสดาทรงแผ่เมตตา เปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย
แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ตัวอย่างยุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายอุบาสก

ก.อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นอุบาสกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล เดิมชื่อ สุทัตต์ เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างวัดพระเชตะวันถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง 19 พรรษา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นอกจากอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า อนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่า ผู้ให้ก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสก

แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ข.หมอชีวกโกมารภัจจ์

ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร  และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์
แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ

แต่พอดีเมื่อถึง
เวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)

ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น
พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์

เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง
ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรง เลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์

ต่อมา
ไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

หมอชีวกได้รักษา
โรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ

หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า


ด้วย
เหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระ สงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด

นอกจากนั้น
หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล
แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

ตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายอุบาสิกา

ก.นางสุชาดา



นางสุชาดา  เป็นธิดาของเสนียกุฏมพี (กุฏมพี เศรษฐี, ผู้มีทรัพย์มาก) ในหมู้บ้านเสนานิคม แห่งตำบนอุรุเวลเสนานิคมา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ 2 ประการ คือ
1. ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพยสมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน
2.  ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย
ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้ง 2 ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพลีกรรมแก่ท่านด้วยของอันมีค่าหนึ่งแสนกหาปณะ
ครั้นกาลต่อมา ความปรารถาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า ยสะ นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปยาสเสร็จเรียบร้อย แล้ว ให้นางทาสีสาวใช้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น

ขณะนั้น พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หลังจากเลิกการทรมานร่างกายหันมาเสวยพระกระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ต้นไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทาทิศปราจีน (ตะวันออก) มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงเป็นเทพยดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน

ฝ่ายนางสุชาดาจึงรีบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อยแล้วยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่าเป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าใน วันนั้น หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือสุขอันเกิดจากการตรัสรู้บริเวณใกล้ ๆ นั้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ รวม 45 วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระปัจจวัคคีย์ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

นางสุชาดามีบุตรชื่อยสะ ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์ นางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกา พร้อมกับภรรยาเก่าของยสะ และได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม

แหล่งข้อมูล: วิกิพีเดีย


ข.นางวิสาขา



เป็นมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศล แล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาสามี ซึ่งนับถือนิครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศษสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา(มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ขายเครื่องประดับระจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง 120 ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะเลิศในผู้ถวายทาน ในบรรดาทายิกาทั้งปวง
 
แหล่งข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)


สัปดาห์ที่ 14 พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

        
เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือตะวันออกกลาง ประกอบด้วยอะนาโตเลีย (Anatolia)  หมายถึง เอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) เป็นพื้นที่ส่วนที่เป็นเอเชียของประเทศตุรกี ประเทศที่เป็นเกาะคือ ไซปรัส ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดินแดนในตะวันออกใกล้ ได้แก่ ประเทศซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน และอิรัก ดินแดนในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ประเทศซาอุดิอารเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน เยเมน อาจรวมถึงคูเวต อิหร่านและอัฟกานิสถาน ปัจจุบันตะวันออกกลางเป็นถิ่นมุสลิม สำหรับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในดินแดนแห่งนี้ จะกล่าวถึงประเทศอัฟกานิสถานเพียงประเทศเดียว เพราะมีหลักฐานเด่นชัดว่าพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาก่อน 
  
ประเทศอัฟกานิสถาน 

ประเทศอัฟกานิสถานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน (Islamic Republic of Afghanistan) มีเมืองหลวงชื่อ คาบูล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 31,056,997 คน (พ.ศ.2549) ชาวอัฟกานิสถานในปัจจุบันส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามคือ 98% เป็นนิกายสุหนี่ 83.2% นิกายชีอะห์ 14.9% นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ 1.4% ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู 0.4% และศาสนาคริสต์ 0.1%

อัฟกานิสถานเป็นที่รู้จักของชาวพุทธไปทั่วโลก เมื่อครั้งที่กลุ่มตาลิบัน (Taliban) ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ได้ทำลายพระพุทธรูปยืนโบราณสององค์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2544 ท่ามกลางการประณามของยูเนสโก และพุทธศาสนิกชนทั่วโลก  พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูง 53 เมตร และองค์เล็กกว่าสูง 38 เมตร มีอายุประมาณ 2,000 ปี แกะสลักอยู่บนหน้าผาในเมืองบามิยัน ทางภาคกลางของอัฟกานิสถาน 

แม้อัฟกานิสถานในปัจจุบันจะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  แต่ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี และยังเป็นเส้นทาง ผ่านของพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าไปสู่เอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มองโกเลียอีกด้วย   พระสงฆ์จากเอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมองโกเลีย ใช้เส้นทางนี้ผ่านเข้ามาแสวงบุญในอินเดีย ซึ่งเรียกเส้นทางสายนี้ว่า เส้นทางสายไหม นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังเป็นทางผ่านของหลายอารยธรรม เช่น กรีก อิหร่าน เปอร์เซียอีกด้วย
 
พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอัฟกานิสถาน เพราะโบราณสถานจำนวนมากทั่วประเทศเป็นของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เมืองบามิยัน จาลาลาบาด กันทาหาร์และกาซมี ในสมัยพุทธกาลเรียกดินแดนของอัฟกานิสถานนี้ว่า แคว้นคันธาระ และ กัมโพชะ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเรียกว่า แคว้นโยนก หรือเยาวนะ ส่วนในสมัยพระถังซัมจั๋งเรียกดินแดนแถบนี้ว่า แคว้นอุทยาน แคว้นคันธาระ และแคว้นกปิศะ เป็นต้น
 
พระพุทธศาสนาเข้าไปในอัฟกานิสถานตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือเมื่อคราวที่สองพ่อค้า  ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้พบพระพุทธองค์และประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะ ก่อนกลับพ่อค้าทั้งสองขอเส้นพระเกศาไปประดิษฐานในพระเจดีย์ที่แคว้นอุทยาน ซึ่งอยู่ในเขตของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน นอกจากนี้พระเจ้าปุกกุสาติแห่งนครตักสิลา ก็เป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์ จึงทำให้พระองค์เป็นพุทธมามกะด้วย และเนื่องจากเมืองตักสิลาในอดีต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน จึงทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่อัฟกานิสถานอีกเส้นทางหนึ่ง
 
พระพุทธศาสนาแถบนี้รุ่งเรืองมากในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (King Ashoka) ในครั้งนั้น พระมัชฌันติกเถระและคณะได้นำศาสนาพุทธมาเผยแผ่ โดยไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองมถุราและเมืองกิปิน (Kipin) ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแก่ชนพื้นเมือง 

ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ (King Milinda) หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) หรือชื่อในภาษากรีกว่า เมนันดรอส (Menandros) ทรงเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ครองราชย์ราวปี พ.ศ. 500 เศษ อาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมพื้นที่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ ทิศใต้ของอุซเบกิสถาน และบางส่วนของอิหร่าน ทรงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองใน    ดินแดนแห่งนี้ และยุคนี้มีพระพุทธปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก โดยสกุลช่างคันธาระ (Gandhara Style) อันเป็นการผสมผสานของอารยธรรมกรีก โรมัน และแนวคิดพระพุทธศาสนา
 
ในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช (King Kanishka : พ.ศ.621 - 644) อาณาเขตของพระองค์ครอบคลุมแม่น้ำกาบูลของอัฟกานิสถาน คันธาระ สินธุ์ของปากีสถาน กัศมีร์  (แคชเมียร์) รัฐมัธยมประเทศของอินเดีย รวมถึงสาธารณรัฐในเอเชียกลางบางประเทศ พระองค์ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงให้ความอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 แม้ว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่ยอมรับ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และได้เผยแผ่ไปทั่วเอเชียกลาง อิหร่านบางส่วน จีนและเกาหลี 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอัฟกานิสถานอย่างเต็มตัวในสมัย พระเจ้ากนิษกมหาราช ทั่วทั้งประเทศมีการสร้างพุทธสถานขึ้นมามากมาย พระสงฆ์ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีหลายรูปจาริกไปเผยแผ่ในเอเชียกลางด้วย ต่อมาที่หุบเขาบามิยัน (Bamiyan) มีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่และเล็กขึ้นที่หน้าผาสูงชัน แต่ละองค์ใช้เวลาสร้างไม่น้อยกว่า   200 ปี และมีการขุดเจาะถ้ำขึ้นตามหน้าผามากมายเพื่อเป็นที่พักสงฆ์
 
เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างอาหรับกับอินเดีย และเป็นทางผ่านไปสู่จีน จึงถูกรุกรานจากศัตรูอยู่เสมอ เช่น กรีก มองโกล ฮั่นขาว อาหรับ อังกฤษ และโซเวียต เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพมุสลิมอาหรับ ได้ทำลายพุทธสถานอย่างหนัก บังคับผู้คนให้นับถือศาสนาอิสลาม ในปี พ.ศ.1252 กษัตริย์แห่งหุบเขาบามิยันและผู้ปกครองเมืองอื่นๆจึงต้องจำยอมเปลี่ยนศาสนา เพื่อความอยู่รอด เมื่อผู้นำหันไปนับถืออิสลาม จึงทำให้สถานการณ์พระพุทธศาสนายิ่งเสื่อมลงอย่างหนัก  หลังการยึดครองของมุสลิมล่วงไปเพียง 100 ปี  อัฟกานิสถานก็กลายเป็นประเทศที่ปราศจากพระสงฆ์โดยสิ้นเชิง สังฆารามมากกว่า 3,000 แห่งตามรายงานของพระถังซัมจั๋งเหลือแต่ซากโบราณสถานเท่านั้น ในปัจจุบันอัฟกานิสถาน  จึงมีชื่อว่า สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน

สัปดาห์ที่ 13 พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



          ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย รวมทั้งประเทศที่เป็นเกาะในทะเล ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไนและติมอร์ตะวันออก ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธในปัจจุบันคือ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชาและพม่า ส่วนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน จะนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ประเทศฟิลิปปินส์และติมอร์ตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกล่าวถึงประเทศที่ สำคัญๆ 6 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า และเวียดนาม ดังต่อไปนี้
 
1. ประเทศไทย
          ประเทศไทยมีชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) ปัจจุบัน (พ.ศ.2549) ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร  ก่อนหน้านี้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ไทยมีประชากรประมาณ 62,418,054 คน (พ.ศ.2548) โดย 95% นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท 3% นับถือศาสนาอิสลาม และอีก 2% นับถือศาสนาคริสต์
          พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ไทยในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชประมาณปี พ.ศ.236 โดยพระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นผู้นำมาเผยแผ่ยังสุวรรณภูมิ ซึ่งในขณะนั้นอาณาจักรไทยรวมอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิด้วย สุวรรณภูมิ แปลว่า แผ่นดินทองคำ ปัจจุบันยังชี้ชัดไม่ได้ว่าสุวรรณภูมิอยู่ตรงไหน นักโบราณคดีมีทัศนะแตกต่างกัน 4 กลุ่มใหญ่ดังนี้
          1. นักโบราณคดีกลุ่มอินเดีย 90% เชื่อว่า สุวรรณภูมิ คือ แหลมมลายู ประกอบด้วยดินแดนส่วนใต้สุดของพม่า ภาคใต้ของไทยทั้งหมด คาบสมุทรมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ประวัติพื้นเมืองกล่าวไว้ว่า สมัยโบราณย่านนี้มีทองคำมาก  เล่นพนันกันโดยเอาทองออกประกัน ชนไก่ก็เอาทองเท่าตัวไก่เป็นเดิมพัน
          2. กลุ่มอินเดีย 10% เชื่อว่า สุวรรณภูมิ คือ ริมทะเลด้านตะวันออกของอินเดียใต้
          3. กลุ่มพม่าเชื่อว่า สุวรรณภูมิ ได้แก่ตอนกลางและตอนใต้ของประเทศพม่า
          4. กลุ่มไทยเชื่อว่า ศูนย์กลางสุวรรณภูมิอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
          อย่างไรก็ตาม สุวรรณภูมิมีขอบเขตกว้างขวาง สิริวัฒน์ คำวันสา กล่าวไว้ว่า มีชนเผ่า   ต่างๆ หลายเผ่าอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เช่น มอญ พม่า ละว้า มลายู และขอม เป็นต้น
         อาณาจักรทวารวดี หลักจากที่บรรพบุรุษของไทยได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทมาตั้งแต่ยุคของพระเจ้า อโศกมหาราชแล้ว ก็ได้รักษาสืบทอดกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคของ   อาณาจักรทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 13 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ในยุคนี้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง พบโบราณวัตถุและโบราณสถานต่างๆ มากมาย เช่น พระพุทธรูปศิลาขาว พบที่นครปฐม 3 องค์ อยุธยา 1 องค์ และพบพุทธสถานโบราณหลายแห่งในนครปฐม โดยเฉพาะองค์พระปฐมเจดีย์
          อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรที่อยู่ในช่วงเดียวกันกับทวารวดีคือ อาณาจักรศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 19 ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างครอบคลุมปลายแหลมมลายูและเกาะชวา ยังไม่พบหลักฐานระบุได้ชัดเจนว่าศูนย์กลางของอาณาจักรนี้อยู่ที่ใด ดร.เวลล์ กล่าวว่า เมืองปาเลมบัง บนเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย  ในขณะที่ท่านพุทธทาสมีความเห็นว่า เมืองหลวงของศรีวิชัยอยู่ที่ไชยา สุราษฎร์ธานี
          มีการค้นพบศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบ่งบอกว่าพระเจ้ากรุงศรีวิชัยเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามหายาน และพบหลักฐานในที่อื่นๆ อีกมากมายในปี พ.ศ.1214 สมณะอี้จิงเดินทางจากจีนมาเรียนหนังสืออยู่ที่ศรีวิชัย 6 เดือน จึงเดินทางต่อไปอินเดีย ท่านได้แนะนำเพื่อนภิกษุชาวจีนว่า ก่อนจะไปชมพูทวีปควรจะไปศึกษาเบื้องต้นที่ศรีวิชัยก่อน เพราะเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนามหายานที่สำคัญและโด่งดังเกือบจะทัดเทียม กับอินเดีย
          อาณาจักรลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 ราชวงศ์สุริยวรมันแห่งกัมพูชาเจริญรุ่งเรือง ได้แผ่อาณาจักรครอบคลุมมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำมูล ได้มีชัยชนะเหนืออาณาจักรทวารวดีและตั้งราชธานีเพื่ออำนวยการปกครองขึ้นใน เมืองต่างๆ เช่น  เมืองลพบุรี สุโขทัย ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) พิมาย และสกลนคร ในเมืองต่างๆ เหล่านี้ ลพบุรีหรือละโว้เป็นเมืองสำคัญที่สุด ลพบุรีได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานจากกัมพูชามาผสมผสานกับเถรวาทดั้งเดิมที่ สืบต่อมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ในสมัยนี้มีการสร้างศาสนสถานมากมาย เช่น พระปรางค์สามยอด ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เป็นต้น
          อาณาจักรสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.1800 หัวหน้าคนไทยกลุ่มหนึ่ง คือ พ่อขุนบางกลางหาว ได้ประกาศอิสรภาพขับไล่พวกขอมหรือกัมพูชาออกไป แล้วตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงสุโขทัย และได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ของสยามประเทศ ทางด้านศาสนานั้นยุคนี้มีทั้งศาสนาพราหมณ์ พระพุทธศาสนามหายานและเถรวาทซึ่งตกทอดมาจากอดีต แต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงเคารพนับถือนิกายเถรวาทมากที่สุด ต่อมาประมาณปี พ.ศ.1822 พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์องค์ ที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย ยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมากทั้งอาณาจักรและพุทธจักร 
          พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชซึ่งไปร่ำเรียนมาจากลังกาให้มาเผยแผ่ที่ กรุงสุโขทัย  ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมมาก  คณะสงฆ์สมัยนั้นแบ่งเป็น 2 คณะ คือ คณะคามวาสี คือฝ่ายคันถธุระหรือศึกษาด้านปริยัติ และคณะอรัญวาสี คือ ฝ่ายวิปัสสนาธุระหรือฝ่ายที่เน้นบำเพ็ญสมาธิภาวนา ชาวสุโขทัยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 ตอนหนึ่งว่า
          "...คนในสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว  เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ย พนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน บริพารกฐินโอยทานแลญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น..."
         พระพุทธศาสนายุคสุโขทัยนั้นรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยพระนัดดา (หลาน) ของพ่อขุนรามคำแหงคือ พระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จขึ้นครองราชย์ประมาณปี พ.ศ.1890 ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่รอบรู้พระไตรปิฎกและภาษามคธ   ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีพระพุทธศาสนา เรื่องไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นวรรณคดีชิ้นแรกของไทยในปี พ.ศ.1888 โดยอ้างอิงจากคัมภีร์ต่างๆ ถึง 34 เรื่อง ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินสีห์ พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก และในปี พ.ศ.1905 พระองค์เสด็จออกผนวช นอกจากนี้ศิลาจารึก หลักที่ 5 กล่าวไว้ว่าพระเจ้าลิไททรงปรารถนาพุทธภูมิด้วยดังข้อความว่า "จุงเป็นพระพุทธ    จุงจักเอาฝูงสัตว์ทั้งหลาย(ข้าม)สงสารทุกข์นี้" เมื่อกษัตริย์ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้ประชาชนถือ เป็นแบบอย่างและเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก 
         อาณาจักรล้านนา ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.1840 โดยพระยามังราย ทรงเป็นพระสหายสามเส้าระหว่างพ่อขุนรามคำแหงกับพระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ทรงสร้างเมืองขึ้นที่เชิงเขาเทวบรรพต (ดอยสุเทพ) ให้ชื่อว่า นวปุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ พระพุทธศาสนาสมัยนั้นเป็นนิกายเถรวาทเป็นหลัก ซึ่งมีความแพร่หลายเป็นศาสนาประจำท้องถิ่น ต่อมาเมื่อพระเจ้าติโลกราชเสวยราชสมบัติระหว่างปี พ.ศ.1985 - 2020 ยุคนี้พระพุทธศาสนาเจริญที่สุดถือเป็นยุคทองของล้านนา ในปี พ.ศ.1985 ทรงบวชพระชาวเชียงใหม่ 500 รูป ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกที่ล้านนา ซึ่งถือเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ผลการสังคายนาครั้งนี้ทำให้ศาสนาเข้มแข็งและบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นขึ้น
          ต่อมาเมื่อพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานของพระเจ้าติโลกราชขึ้นครองราชย์ ระหว่างปี พ.ศ.2038 - 2068 มีพิธีบวชนาคหลวงครั้งใหญ่ครั้งแรกในล้านนาถึง 1,200 กว่ารูป  สมัยล้านนาพระสงฆ์แตกฉานในคัมภีร์บาลีและแต่งตำราเป็นภาษาบาลีไว้มากกว่า สมัยใดๆ  จำนวนคัมภีร์ที่แต่งไว้ไม่ต่ำกว่า 32 คัมภีร์ ตำราบางเล่มยังใช้เป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์มาถึงปัจจุบัน เช่น มังคลัตถทีปนี ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น แม้แต่บทสวดพาหุง ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้    ก็แต่งในยุคนี้ พระลังกาก็นำไปใช้สวดจนถึงปัจจุบันเช่นกัน 
         อาณาจักรอยุธยา พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.1893   ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงและในที่สุดได้ เป็นเมืองขึ้นของอยุธยาในปีพ.ศ.1921 กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองยาวนานถึง 417 ปี มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง 33 พระองค์ อยุธยาเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ดังคำกล่าวว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ทั่วทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัดวาอาราม ปราสาท พระราชวัง ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุมากมาย
         พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างวัดขึ้น 2 วัด คือ วัดพุทธไธศวรรย์ และวัดใหญ่ชัยมงคล พระพุทธศาสนาเจริญสูงสุดในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1991-2031 ทรงสร้างวัดและบูรณะวัดต่างๆมากมาย ในปี พ.ศ.2008 พระองค์เสด็จออกผนวช มีข้าราชการและบรมวงศานุวงศ์ออกบวชตามมากถึง 2,388 คน ซึ่งเป็นประดุจดั่งการออกบวชของพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในอดีต 
         ครั้นถึงรัชกาลพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงหล่อพระพุทธรูปสูงใหญ่ชื่อ พระศรีสรรเพชญ์ ด้วยทองคำหนัก 53,000 ชั่ง แล้วหุ้มด้วยทองคำอีก 286 ชั่ง หรือ 22,880 บาท หลังจากสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์เรื่อยมาจนกระทั่งถึง รัชกาลของพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์องค์ที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ในปี พ.ศ.2153 ก่อนเสวยราชสมบัติพระองค์เคยออกผนวช เป็นผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎก ต่อมาเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วได้เสด็จลงพระที่นั่งจอมทอง 3 หลัง เพื่อสอนพระบาลีแก่ภิกษุสามเณร ทุกวัน มีภิกษุสามเณรไปเรียนกันจำนวนมาก ในสมัยของพระองค์มีการส่งพระภิกษุไปเรียนที่ลังกาด้วย
         สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2199 - 2231 พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่กิจทางศาสนา เสด็จทรงบาตรทุกวัน ในสมัยนั้นชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชีย ประเทศต่างๆ ตกเป็นเมืองขึ้นโดยมาก แต่ไทยรอดพ้นมาได้ทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักรด้วยพระปรีชาสามารถของ กษัตริย์ในแต่ละสมัย ครั้งหนึ่งพระเจ้า  หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ส่งพระราชสาส์นมาถึงพระนารายณ์มหาราช มีใจความว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสขอชักชวนพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้มาร่วมแผ่นดินเดียวกัน โดยขอให้พระองค์เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาเดียวกับฝรั่งเศส...
         พระนารายณ์มหาราชทรงขอบพระทัยพระเจ้าฝรั่งเศสหนักหนาที่มีความสนิท เสน่หาในพระองค์ แต่ทรงประหลาดใจว่า เหตุใดพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจึงมาก้าวก่ายกับฤทธิ์อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เพราะการที่มีศาสนาต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ใช่เป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรอกหรือ พระองค์จึงปล่อยให้มีไปดั่งนั้น มิได้บันดาลให้มีเพียงศาสนาเดียว เมื่อพระผู้เป็นเจ้ามีฤทธิ์มากในเวลานี้ พระองค์คงปรารถนาให้ตัวเรานับถือพุทธศาสนาไปก่อน เพราะฉะนั้นเราจึงจะรอคอยพระกรุณาของพระองค์ บันดาลให้เราเลื่อมใสในคริสต์ศาสนาในวันใด เราก็จะเข้ารีตในวันนั้น จึงขอฝากชะตากรรมของเราและกรุงศรีอยุธยาสุดแต่พระเจ้าจะบันดาลเถิด
         พระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้มีพระราชโองการประกาศว่า ให้คนไทยนับถือศาสนา ได้ตามชอบใจ แล้วพระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์คริสตังใหม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ทูตฝรั่งเศสผิดหวัง มากเกินไป มีคนไทยบางส่วนหันมานับถือคริสต์ศาสนาแต่ก็เพียงน้อยนิด  แม้ผ่านมา 300 กว่าปีจนถึงปัจจุบัน คริสต์ศาสนิกชนในไทยมีเพียง 2% เท่านั้น กุศโลบายของพระนารายณ์มหาราชนี้เป็นการเสียน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่เอาไว้  แต่ถ้าพระองค์ทรงเปลี่ยนศาสนาเสียแล้ว  เป็นไปได้ว่าในยุคนั้นและยุคต่อมาชาวไทยโดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ ศาสนาตามพระองค์ ปัจจุบันชาวพุทธอาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยในท่ามกลางคริสต์ศาสนิกชนก็เป็นไปได้
         สมัยกรุงธนบุรี หลักจากที่กรุงศรีอยุธยาสูญเสียเอกราชให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2310  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปลายปีเดียวกัน แล้วทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ ทรงสนับสนุนปัจจัย 4 แก่พระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจเล่าเรียนพระไตรปิฎก และทรงขอร้องให้ภิกษุตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย หากขัดข้องสิ่งใดพระองค์จะจัดการอนุเคราะห์ ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว  แม้จะปรารถนามังสะรุธิระของโยม  โยมก็อาจจะเชือดเนื้อแลโลหิตออกมาบำเพ็ญทานได้"  เพราะสมัยนั้นมีภิกษุประพฤตินอกรีตตั้งตนเป็นแม่ทัพ  พระเจ้าตากสินจึงจับสึกไปจำนวนมาก
         สมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากสิ้นยุคธนบุรีแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จ ขึ้นครองราชสมบัติในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ทรงย้ายเมืองหลวงมาที่ กรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธศาสนาในกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ยุคใดที่แล้ว มา ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นหลักชัยในการ     ส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
         รัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2325 - 2352) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  เสด็จออกทรงบาตรเวลาเช้า ตอนเพลถวายภัตตาหาร  เวลาเย็นเสด็จออกท้องพระโรงเพื่อสดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำ ทรงโปรดให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในปลายปี พ.ศ.2331 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดมหาธาตุในปัจจุบัน) โดยมีพระภิกษุ  218 รูป ราชบัณฑิต 32 คน 
         พระองค์เสด็จไปที่ประชุมสังคายนาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เพื่อถวายภัตตาหารและน้ำปานะ สังคายนาอยู่ 5 เดือนจึงเสร็จ แล้วโปรดให้คัดลอกสร้างเป็นฉบับหลวงขึ้น เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ นอกจากนี้ทรงออกกฎหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์เป็นครั้งแรกและออกต่อๆ กันมา รวม 10 ฉบับ ฉบับที่ 1 ออกในปี พ.ศ.2325 ฉบับที่ 10 ออกในปี พ.ศ.2344  และทรงโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในปี พ.ศ.2325 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
         รัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352 - 2367) ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย  มีการปรับหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีใหม่จาก "บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก" เป็นแบบ 9 ประโยค ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในการสอบวัดผลนั้น ใช้วิธีสอบปากเปล่าคือให้แปลพระบาลีต่อหน้ากรรมการ 3 - 4 รูป และมีครูเข้าฟังเป็นพยาน 20 - 30 รูป ถ้านักเรียนแปลเก่ง อาจจะสอบผ่าน 9 ประโยคภายในวันเดียวก็ได้ 
         ในปี พ.ศ.2363 มีอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตายมาก พระองค์จึงบำเพ็ญกุศลหลายอย่างเพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ โปรดให้แปลพระปริตรเป็นภาษาไทย ให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในฝึกหัดสวดพระปริตรทุกวัน โดยพระองค์เสด็จขึ้นทรงฟังสวดถวาย ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณทุกคืน ธรรมเนียมการสวดพระปริตรนี้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อ     ครั้งที่เมืองไพศาลีเกิดภัยพิบัติด้วยอหิวาตกโรคเป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรว่าด้วย "ยงฺกิญฺจิ ฯลฯ" แล้วทำพระปริตรสวดขจัดปัดเป่าภัยต่างๆ ในเมืองไพศาลีให้มลายหายไป
          รัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367 - 2394) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่าง ยิ่ง มีคำกล่าวว่า ไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ ณ ที่ใด ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น พระองค์จะทรงระลึกถึงการบำรุงพระศาสนาไว้ก่อน พระองค์เสด็จทรงบาตรทุกวัน ทรงอาราธนาพระมาถวายธรรมเทศนาและบอกคัมภีร์ในวังเป็นประจำ  พระองค์ไม่โปรดละครในคือละครที่มีผู้หญิงแสดง แต่โปรดการทรงธรรม ในรัชกาลนี้มีการสร้างพระไตรปิฎกมากกว่ารัชกาลอื่นที่แล้วมาคือ มีถึง 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรดน้ำเอก รดน้ำโท ทองน้อย ชุบย่อ และฉบับอักษรรามัญ ด้วยความที่พระองค์เอาใจใส่ต่อกิจการทางศาสนาเช่นนี้ จึงมีกุลบุตรออกบวชกันจำนวนมาก ตามบันทึกของชาวยุโรประบุว่า ในกรุงเทพมหานครมีภิกษุสามเณร 10,000 รูป และทั่วพระราชอาณาจักรมี 100,000 รูป
          กำเนิดธรรมยุต ในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุตขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญชื่อ ชาย พุทฺธวํโส จึงทรงอุปสมบทใหม่กับคณะสงฆ์มอญในปี พ.ศ.2372 แล้วตั้งคณะธรรมยุตขึ้นในปี พ.ศ.2376 จากนั้นเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติก นิกาย คณะสงฆ์เดิมนั้นถูกเรียกว่า มหานิกาย
          ก่อนสวรรคต พระองค์ตรัสสั่งเหล่าข้าราชบริพารเรื่องกิจการบ้านเมืองและศาสนาไว้ว่า "สงครามข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ชาวฝรั่ง ให้ระวังให้จงดีอย่าให้เสียทีเขา การงานสิ่งใดของเขาที่คิดว่าดี  ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเลื่อมใสไปทีเดียว  ทุกวันนี้คิดจะสละห่วงใยให้หมด อาลัยอยู่แต่วัดสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัดที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยบำรุง... (เงินพระคลัง 4 หมื่นชั่ง) ขอสัก 1 หมื่นชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าของแผ่นดินช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นให้แล้ว ด้วย"
          รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวชอยู่ 27 พรรษา  ทรงลาสิกขาแล้วขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา ใน พ.ศ. 2394  พระองค์ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่างๆ อีกมาก  โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2394 ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปวงชนชาวไทยได้ถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้
          รัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่มีวิสัย ทัศน์กว้างไกล ทรงนำพาชาติไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทั้งทางกิจการบ้านเมืองและทางศาสนา ทรงเริ่มต้นการศึกษาสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางและให้พระสงฆ์เป็นครูสอนหนังสือแก่เยาวชน ในปี พ.ศ.2427 ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม
         ในปี พ.ศ. 2432 ทรงโปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดารามออกมาเป็นบาลีวิทยาลัยชื่อ มหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ และต่อมาปี พ.ศ. 2439 ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัย เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ซึ่งเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร โดยทรงมุ่งหมายจะให้จัดการศึกษาแบบตะวันตก
         ทรงโปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยชุดละ 39 เล่ม จำนวน 1,000 ชุด ในปี พ.ศ.2435 ต่อมาปี พ.ศ.2436 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย
         เพื่อให้การปกครองสงฆ์มีความรัดกุมยิ่งขึ้น พระองค์จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ขึ้นใน พ.ศ.2445 ตรงกับ ร.ศ.121 (รัตนโกสินทร์ศก 121) นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดวัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่นๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก
         รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453 - 2468) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในทางพระศาสนา มาก ทรงนิพนธ์หนังสือพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ทรงอบรมสั่งสอนธรรมะข้าราชการด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ.2455 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส          ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียนเป็นครั้งแรก
          ต่อมาอีกหนึ่งปีคือใน พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. และในปี พ.ศ.2462 - 2463 ทรงโปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎก อรรถกถาชาดกและคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา เป็นต้น   หลักสูตรนักธรรมที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ทรงโปรดให้จัดการศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.2469 ก่อนหน้านั้นเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" ซึ่งมีการสอบครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ.2454
          รัชกาลที่ 7 (พ.ศ.2468 - 2477) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ของประเทศไทยขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2468 - 2473เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงให้จัดพิมพ์  พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐชุดละ 45 เล่ม จำนวน 1,500 ชุด พระราชทานแก่ประเทศต่างๆ ประมาณ 450 ชุด  ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของประเทศสยาม  เพราะประเทศพุทธศาสนาอื่นๆ ในครั้งนั้นยังไม่มีประเทศใดทำได้ ปี พ.ศ.2471 กระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันได้จัดหลักสูตร "ธรรมศึกษา" เพื่อเปิดโอกาสให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
          รัชกาลที่ 8 (พ.ศ.2477 - 2489) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย 2 ประเภท คือ
          1. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด 80 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่เสร็จสมบูรณ์หลังจากสิ้นรัชกาลพระองค์ไปแล้วคือในปี พ.ศ.2500 เพื่อฉลองในโอกาส 25 พุทธศตวรรษ
          2. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ลงใบลาน แบ่งเป็น 1,250 กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อปี พ.ศ.2492
          ในปี พ.ศ.2484 รัฐบาลออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เพื่อให้การปกครอง คณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่ ถัดมาอีก 4 ปี คือในปี พ.ศ.2488 มหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2436 ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย"
         รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2489 - ปัจจุบัน) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญระดับประถมปลาย และมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในปี พ.ศ.2514 ต่อมาปี พ.ศ.2501 มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเปิดการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน ต่อมาได้ขยายไปทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้วิชาพระพุทธ-ศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับแก่นัก เรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 1-6  
         ในปี พ.ศ.2508 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น ณ ประเทศไทย (พ.ส.ล.) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก นอกจากนี้ปัจจุบันมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรมมากขึ้น เพราะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวดเร็ว  หากผู้แต่งเขียนได้ดีจะได้รับความนิยมจากผู้อ่านไม่แพ้นวนิยาย เช่น หนังสือ "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" เป็นต้น ซึ่งจัดพิมพ์ 30 กว่าครั้งแล้ว ขายดีมากเข้าถึงผู้อ่านกว่าแสนคน
         ในด้านพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์เป็น พิธีของรัฐบาล เรียกว่า "รัฐพิธี" โดยให้กระทรวงต่างๆ เป็นผู้จัด มีการจัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จ แทนพระองค์ในพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา ณ พุทธมณฑล ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อครั้งฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
 
2. ประเทศกัมพูชา 
         กัมพูชา (Cambodia) หรือเขมรมีชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) ปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ  มีเมืองหลวงชื่อพนมเปญ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด เคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเกือบร้อยปี ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2496 กัมพูชามีประชากรประมาณ 14,071,000 คน (พ.ศ.2548) ประชากร 93% นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ส่วนอีก 7% นับถือภูตผีและอื่นๆ
         กัมพูชาเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมายาวนานก ว่า 2,000 ปี หลักฐานหลายแหล่งยืนยันตรงกันว่า พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 เช่น หลักฐานจากศิลาจารึกที่ค้นพบ ณ เมืองโวกัญ อันเป็นศิลาจารึกที่เก่าแก่ ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอดีตกัมพูชาคือดินแดนส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ อันเป็นถิ่นที่พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่บัดนั้นพระพุทธศาสนาในกัมพูชาจึงค่อยๆ เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงยุคประวัติศาสตร์กัมพูชา4 ยุค คือ ยุคฟูนัน เจนละ พระนคร และยุคปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
         ยุคฟูนัน (พ.ศ.600-1100) คำว่า ฟูนัน (Funan) เป็นคำที่เรียกตามหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีน ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า พนม หรือ วฺนม ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ภูเขา ในอดีตชาวฟูนันเคยนับถือลัทธิโลกธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และผีสางนางไม้ แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิแล้วชาวฟูนันจึงหันมานับถือพระพุทธ ศาสนา จนกระทั่ง พ.ศ.543 พราหมณ์ชาวอินเดียชื่อเกาณฑินยะรบชนะเผ่าฟูนันและได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระ ราชาปกครองพระนคร ในราชสำนักจะนับถือศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของพระราชาเกาณฑินยะ แต่ประชาชนทั่วไปบ้างก็นับถือศาสนาพุทธบ้างก็นับถือศาสนาพราหมณ์ 
         ในรัชสมัยของพระเจ้าศรีมาระ พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาและทรงประกาศยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ มีศิลาจารึกเก่าแก่อายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงสั่งให้พระราชาผู้เสวยราชย์ต่อไปในอนาคตนับถือและสนับสนุนพระพุทธ ศาสนาด้วย ในยุคต่อมาพงศาวดารจีนบันทึกไว้ว่า พระราชายุคต่อมาก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาตามคำสั่งของพระเจ้าศรีมาระ  นอกจากนี้ยังกล่าวถึงพระนาคเสนภิกษุชาวอินเดียซึ่งเดินทางไปอาณาจักรฟูนัน และเดินทางต่อไปเมืองจีนในปี พ.ศ.1027 ในครั้งนั้นพระนาคเสนกล่าวถวายพระพรต่อพระเจ้ากรุงจีนว่า "ในประเทศฟูนันบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาก ประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์ก็มี พระพุทธศาสนาก็มี พระพุทธศาสนานั้นรุ่งเรืองมาก มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากและฝึกปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด"
         หลังจากนั้นไม่นานคือในปี พ.ศ.1046 กษัตริย์ฟูนันส่งราชทูตและพระภิกษุไปกรุงจีนอีก คือ พระสังฆปาละ และพระมันโตโล โดยพระพระสังฆปาละเป็นผู้รู้ภาษาศาสตร์หลายภาษา และทรงพระไตรปิฎก มีจริยวัตรงดงาม กิตติศัพท์เลื่องลือไปถึงพระเจ้ากรุงจีนคือ จักรพรรดิบู่ตี่แห่งราชวงศ์เหลียง จึงนิมนต์ท่านไปสอนธรรมะและแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน ท่านแปล พระไตรปิฎกอยู่นานถึง 16 ปี  ชื่อทั้งสองท่านยังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกจีนมาจนถึงปัจจุบัน
         ต่อมาปี พ.ศ.1057 พระเจ้าอนุรุทธวรมันเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงประกาศถวายพระองค์เป็นอุบาสก ทรงมีพระเกศธาตุเส้นหนึ่งไว้เป็นที่สักการบูชา พระเจ้าอนุรุทธวรมันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปรากฏนามในยุคฟูนัน ในปี พ.ศ.1170 อาณาจักรเจนละยกทัพมาตีและรวมฟูนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเจนละ
          ยุคเจนละ (พ.ศ.1100 - 1344) เจนละ เป็นคำจีนที่เรียกเมืองกัมพูชาที่อยู่ทางภาคเหนือของนครฟูนัน คำนี้เพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า เจือน-เลอ หมายถึง ชั้นบน ที่สูง หรือทางเหนือ พระเจ้าวรมันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกประมาณปี พ.ศ.1093 กษัตริย์ในยุคต้นนี้ยังคงนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก  ต่อมาในรัชกาลของพระเจ้าอีศานวรมัน  ที่ 1 (พ.ศ.1159 - 1169) พงศาวดารจีนยุคราชวงศ์สุย บันทึกไว้ว่า "ในรัชกาลของพระองค์นี้ (พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1) มีภิกษุ ภิกษุณี หลายรูป..."
         ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1200 - 1224) มีหลักฐานจากบันทึกของ หลวงจีนอี้จิงที่เดินทางไปอินเดียและผ่านดินแดนแถบนี้ระบุว่า สมัยนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพระพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็นิยมบวชเช่นเดียวกัน ในพุทธศตวรรษที่ 14 พระพุทธศาสนามหายานได้เข้ามาเผยแผ่ในเอเชียอาคเนย์แล้ว และกัมพูชาก็ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานไว้เช่นกัน แต่ก็ไม่มีอิทธิพลมากเหมือนเถรวาท หลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันได้ไม่นานอาณาจักรเจนละก็สิ้นสุดลง
          ยุคพระนคร (พ.ศ.1345 - 1975) ยุคพระนครหมายถึง ยุคนครวัดและนครธม เป็นยุคที่อารยธรรมเขมรเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เป็นมหาอาณาจักรใหญ่มีศิลปะและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นกว่ายุคใดๆ โดยเฉพาะปราสาทนครวัด (Angkor Wat) และนครธม (Angkor Thom) ยุคนี้เริ่มนับตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1345 - 1420) จนถึงรัชกาลของพระเจ้าพญายาต (พ.ศ.1975) ซึ่งทรงสละพระนครไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่พนมเปญอันเป็นเมืองหลวงของกัมพูชา ในปัจจุบัน
          หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ครองราชย์ในปี พ.ศ.1345 แล้ว ทรงย้ายพระนครจากเจนละมาตั้งที่พนมเหนทรบรรพตหรือเขาพนมคูเลนในปัจจุบัน พระองค์ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ แต่พระพุทธศาสนาก็ยังเป็นที่เป็นที่เคารพนับถือกันอยู่ในหมู่ประชาชน หลังจากยุคของพระองค์แล้วกษัตริย์แต่ละพระองค์ก็นับถือพราหมณ์บ้างนับถือพระ พุทธศาสนาบ้างสลับกันไป  แต่ทั้งสองศาสนาก็อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข 
          ครั้นมาถึงรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1545 - 1593 พระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ที่ยกพระพุทธศาสนามหายานเป็นศาสนาของรัฐอย่างเป็นทาง การ  พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ.1656 - 1693 ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์และสร้างปราสาทนครวัดขึ้นเพื่อบูชาพระวิษณุ ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธ
         นครวัด ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐหรือเสียมเรียบ จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมีขนาดใหญ่มากถึง 200,000 ตารางเมตร มีกำแพงด้านนอกยาวด้านละ 1.5 กิโลเมตร ใช้หินทั้งหมด 600,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้ช้างกว่า 40,000 เชือกและแรงงานคนนับ 100,000 คน ในการขนหินและชักลากหิน นครวัดมีเสา 1,800 ต้น หนักต้นละกว่า 10 ตัน เวลาในการสร้างร่วม 100 ปี ใช้ช่างแกะสลัก 5,000 คน และใช้เวลาถึง 40 ปีในการแกะสลัก
         พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์ในปี พ.ศ.1724 พระองค์มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชา ทรงสร้างนครธมขึ้นเป็นราชธานี ทรงเจริญจริยวัตรตามพระเจ้าอโศกมหาราชและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทรงสร้างปราสาทและพระพุทธรูป 798 องค์ เพื่อประดิษฐานทั่วราชอาณาจักร
         ทรงสถาปนาปราสาทตาพรหมหรือวัดบุรีราชมหาวิหารเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระมหาเถระเป็นศาตราจารย์ใหญ่อยู่ 18 องค์ และอาจารย์รองลงมาถึง 2,740 องค์ มีอุบาสกช่วยงาน 2,232 คน อุบาสิกา 615 คน ราษฎรผู้มาจำศีลหรือมาศึกษาธรรมระยะสั้นและระยะยาว 12,640 คน และกลุ่มอื่นๆ อีก 66,625 คน รวมทั้งหมดเป็น 79,265 คน ซึ่งนับรวมชาวพม่าและจำปาที่มาพักศึกษาในที่นี้ด้วย ภายในวัดมีบ้านพัก(กุฏิ)ที่สร้างด้วยหินจำนวน 566 แห่ง สร้างด้วยอิฐ 288 แห่ง มีพระภิกษุจำนวน 439 รูป มารับภัตตาหารทุกวันในพระราชวัง
         นอกจากนี้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้พระราชกุมารคือพระตามลินทะไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา และผนวชที่วัดมหาวิหารแห่งเกาะลังกา ซึ่งขณะนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกากำลังเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลาง ของการศึกษาสงฆ์ ต่อมาเมื่อพระกุมารกลับมากัมพูชาแล้ว ทรงทำให้นิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองเป็นศาสนาประจำชาติของกัมพูชามากระทั่ง ปัจจุบัน  ส่วนพระพุทธศาสนามหายานและศาสนาพราหมณ์ค่อยๆซบเซาลงไปตั้งแต่บัดนั้น 
         ในพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรกัมพูชาอ่อนแอลงมาก ขณะเดียวกันช่วงนั้นอาณาจักรอยุธยาของไทยซึ่งสถาปนาในปี พ.ศ.1894 มีความเข้มแข็งขึ้น ได้เข้าโจมตีเมืองพระนครของกัมพูชาและยึดได้สำเร็จในปี พ.ศ.1895 ต่อมาปี พ.ศ.1974 ได้เข้ามาปล้นทำลายอีกครั้ง  พระเจ้าพญายาตจึงสละพระนครในปี พ.ศ.1975 แล้วเสด็จไปประทับที่พนมเปญ  ยุคพระนครที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 600 ปี (พ.ศ.1345 - 1975) จึงสิ้นสุดลง
         ยุคปัจจุบัน (พ.ศ.1975 - ปัจจุบัน) เมื่อยุคพระนครสิ้นลงแล้ว กัมพูชาได้เมืองหลวงใหม่ อยู่ใกล้ทะเลสาบให้ชื่อว่า กรุงละแวก ยุคนี้พระพุทธศาสนายังคงรุ่งเรืองอยู่ ประชาชนมีความ เคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์  แม้จะมีมิชชันนารีต่างชาติมาเผยแผ่แต่ก็ไม่ได้ผล เช่น ในปี พ.ศ. 2109 ชาวโปรตุเกสชื่อ กาสปาร์ ดากรูซ เดินทางมากรุงละแวกแต่ต้องเดินทางกลับเพราะไม่อาจเปลี่ยนศาสนาชาวพื้นเมือง ได้ เนื่องจากประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระสงฆ์อย่างสุดหัวใจ
         กาสปาร์ ดากรูซ บอกว่า พระสงฆ์ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีความสามารถในกัมพูชา กว่า 1 ใน 3 หรือตามที่เขาประมาณก็นับจำนวนแสนรูป พระภิกษุเหล่านี้ได้รับความเคารพอย่างสูงจากประชาชนราวกับเป็นเทพเจ้าเป็นๆ ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าในหมู่ภิกษุด้วยกัน ก็บูชา ผู้อาวุโสกว่า เสมือนเทพเจ้า ไม่มีใครคัดค้านพระในเรื่องใดๆ บางครั้งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเทศน์อยู่ ทันทีที่พระเหล่านั้นเดินผ่านมา (ชาวบ้าน) ก็พูดเปรยขึ้นว่า "นั่นก็ดีอยู่หรอก แต่ของเราดีกว่า" แล้วพวกเขาก็เดินหนีไปหมดทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ลำพัง 
         ในปี พ.ศ.2410 กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2496 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ ต่อมาปี พ.ศ.2498 พระองค์ทรงสละราชสมบัติถวายแด่พระราชบิดาคือ พระเจ้าสุรามฤต ส่วนพระองค์เองก้าวลงสู่วิถีชีวิตนักการเมือง ทรงตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยมขึ้น และมีชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
         พระเจ้านโรดมสีหนุทรงนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้กับการเมืองโดยให้ ชื่อว่า ทฤษฎีพุทธสังคมนิยม (Buddhist Socialism) เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่เริ่มขยายเข้ามาในกัมพูชา  แต่ด้วยแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและความขัดแย้งจากภายใน จึงทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยนายพลลอน นอล ในปี พ.ศ.2513 สงครามกลางเมืองจึงปะทุขึ้นตั้งแต่บัดนั้น ชาวกัมพูชาต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตไปนับล้านคน กว่าสงครามนี้จะยุติลงในปี พ.ศ.2534
         พระพุทธศาสนาในช่วงรัฐบาลของนายพลลอน นอล ยังได้รับการสนับสนุนอยู่เช่นเดิม รัฐบาลประกาศว่า พระพุทธศาสนายังเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ขอให้คณะสงฆ์ช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์คือกลุ่มเขมรแดง  มีการโฆษณาว่า  ถ้าคอมมิวนิสต์เข้ามาจะไม่มีศาสนา พระพุทธ-ศาสนาและพระสงฆ์จะหมดไปจากประเทศกัมพูชา
         นายพลลอน นอลปกครองประเทศอยู่เพียง 5 ปี ก็ถูกปฏิวัติอีกครั้งในปี พ.ศ.2518     โดยกลุ่มเขมรแดง ซึ่งมีนายพล พต (Pol Pot) เป็นผู้นำ เขมรแดงนำระบอบคอมมิวนิสต์มา   ปกครองประเทศ ประกาศนโยบายบริหาร 8 ประการ เช่น ให้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ลาสิกขาทั้งหมด แล้วไปทำนาแทน ประหารชีวิตผู้นำรัฐบาลเดิมทั้งหมด 
         มหันตภัยคุกคามพระพุทธศาสนา สถานการณ์พระพุทธศาสนายุคนี้ตกต่ำที่สุด พระสังฆราชถูกนำไปสังหาร ประชาชนและภิกษุสามเณรถูกฆ่าประมาณ 2,000,000 คน พระที่เหลือถูกเขมรแดงสั่งให้ทำงาน  ถ้าไม่ทำงานจะไม่มีข้าวฉัน  บ้างก็ถูกบังคับให้ลาสิกขา  วัดถูกปิดหรือรื้อทิ้ง บ้างก็ถูกทำเป็นฟาร์มไก่หรือเล้าหมู คอมมิวนิสต์ถือว่าศาสนาคือยาฝิ่นของประชาชน ภิกษุไม่ทำอะไรจึงทำให้สังคมเป็นอัมพาต ห้ามตักบาตรทำบุญ ผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้น กล่าวว่า "ยุคนั้น ไม่มีวัด ไม่มีพระสงฆ์ ไม่มีประชาชนไปสวดมนต์ ไม่มีการบูชาพระรัตนตรัย" 
         เมื่อผ่านยุคสงครามกลางเมืองมาแล้ว องค์การสหประชาชาติได้เข้ามาช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น ให้เงินช่วยเหลือ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2536 และได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) สถานการณ์พระพุทธศาสนาจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แม้การเมืองจะไม่ค่อยนิ่งคือยังมีการปฏิวัติอยู่บ้างใน ปี พ.ศ.2540 แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนามากนักเหมือนช่วงสงครามกลางเมือง
 
3. ประเทศพม่า  
         ประเทศพม่ามีชื่อเป็นทางการว่า สหภาพพม่า (Union of Myanmar) มีเมืองหลวงชื่อเนปีดอ เมืองใหญ่สุดคือ ย่างกุ้ง  ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร มีประชากรประมาณ  50,519,000  คน (พ.ศ. 2548) นับถือศาสนาพุทธ 90% นับถือศาสนาคริสต์ 4%  ศาสนาอิสลาม 3% ศาสนาฮินดู 0.7% นับถือผีไสยศาสตร์ 2.3%
         ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีคนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เช่น เผ่ากัปปะลี มอญ พยู ไทยใหญ่ พม่า เป็นต้น ชาวพม่าได้อพยพมาราวพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา
         มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพม่าราว 11,000 ปีมาแล้ว ชนชาติแรกคือเผ่ากัปปะลีหรือนิกริโต แต่เผ่าแรกที่สร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้คือมอญ ชาวมอญอพยพเข้ามาราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล ได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ มีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" ส่วนชนเผ่าเดิมคือกัปปะลีก็เคลื่อนย้ายไปอยู่ตามเกาะบะลู ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเมาะลำไย ชนเผ่านี้ มีหน้าตาน่ากลัว ผมหยิก ผิวดำ  มีนิสัยกระด้าง จึงถูกมองว่าเป็นพวกยักษ์ และคำว่า บะลู ก็แปลว่า ยักษ์
         ศิลาจารึกเจดีย์ชเวดากองบันทึกไว้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่พม่าตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือพ่อค้าชาวมอญชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้รับพระเกศธาตุจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐาน ณ เจดีย์ชเวดากอง ส่วนในอรรถกถาบันทึกไว้ว่า พ่อค้าตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางจากอุกกลชนบท ไปยังมัชฌิมประเทศด้วยเกวียน 500 เล่ม ระหว่างทางได้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนกลับพระศาสดาทรงประทานเส้นพระเกศธาตุ 8 เส้น ชนทั้งสองได้นำไปสู่นครของตนแล้วบรรจุพระเกศธาตุไว้ที่ประตูอสิตัญชนนคร แต่ทั้งนี้ยังไม่พบหลักฐานว่า อุกกลชนบทและอสิตัญชนนคร อยู่ในพม่าหรือไม่
         พงศาวดารมอญบันทึกไว้ว่า เมื่อปี 250 ก่อนคริสต์ศักราช (พ.ศ.293) พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมาประกาศพระศาสนา ณ ดินแดนสะเทิมแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิแล้วสวดพระปริตรเพื่อขับไล่เหล่ายักษ์ น้ำหรือผีเสื้อสมุทรมิให้มาเป็นอันตรายแก่ชาวมอญ จึงสันนิษฐานได้ว่าพวกยักษ์ในตำนานมอญนั้นน่าจะหมายถึงชนเผ่ากัปปะลีนั่นเอง ในอรรถกถาก็กล่าวไว้ว่า เมื่อพระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปถึงสุวรรณภูมิ นางรากษสหรือยักษ์ตนหนึ่งพร้อมด้วยบริวารขึ้นมาจากสมุทร มนุษย์เห็นนางรากษสตนนั้นแล้วก็กลัวร้องเสียงดัง พระเถระนิรมิตอัตภาพให้มากกว่าพวกรากษสแล้วขับให้หนีไป
         ชาวพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่น ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เป็นต้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดน พม่าเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเด็กๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี
          พระพุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 6 ต่อมามีพระสงฆ์  ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุได้นำลัทธิตันตระไปเผยแผ่ จนพระพุทธศาสนาทั้งสองนิกายเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลาหลายร้อยปี และรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ 11
          ชาวพม่าเป็นชนเผ่าอพยพมาจากทางตอนเหนือทีละน้อย ได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานพวกมอญ มอญจึงต้องถอยไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่หงสาวดี ในปี พ.ศ.1368 พม่าได้ตั้งอาณาจักรขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพุกาม(Pagan) ในปี พ.ศ.1392 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรพยูเสื่อมสลายแล้ว อาณาจักรพุกามแต่แรกนั้นมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ.1587 - 1620) พระองค์สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ   
         ในปี พ.ศ.1600 พระเจ้าอโนรธายกทัพตีเมืองสะเทิมของมอญ นำเอาพระไตรปิฎกและประเพณีพระพุทธศาสนามา ทรงทำให้นิกายเถรวาทแพร่หลายด้วยความช่วยเหลือจากพระภิกษุมอญชื่อ ชินอรหันต์ ทรงสร้างเจดีย์ที่สำคัญหลายแห่งโดยเฉพาะมหาเจดีย์ชเวดากอง โดยสร้างเสริมเจดีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบต่อมายาวนานว่า พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์จะต้องทรงทำนุบำรุงพระเจดีย์ ในสมัยพระนางฉิ่นซอปู้ทรงพระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองคือ 40 กิโลกรัม เพื่อนำไปตีแผ่หุ้มพระเจดีย์ สมัยพระเจ้าธรรมเซดีก็ทรงบริจาคทองคำหนักเป็นสี่เท่าของน้ำหนักพระองค์เอง ในสมัยพระเจ้ามินดงทรงส่งฉัตรฝังเพชรอันใหม่มาถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นธรรมเนียมมาถึงปัจจุบันที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องพระ ราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองไปตีเป็นแผ่นหุ้มองค์พระมหาเจดีย์
          เจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เป็นภาษาพม่า ชเว แปลว่า ทอง ดากอง แปลว่า เมืองตะเกิง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง เจดีย์ชเวดากอง จึงแปลว่า พระเจดีย์ทองเมือง   ตะเกิง ซึ่งเป็นมหาเจดีย์ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วโดยพ่อค้าทั้งสอง แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 10 แรกเริ่มสร้างมีความสูงเพียง 27 ฟุต แต่ด้วยแรงศรัทธาของชาวพม่าได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สิน เงินทอง แล้วก่อสร้างเสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีความสูงถึง 326 ฟุต กว้าง 1,355 ฟุต ทองคำที่โอบหุ้มเจดีย์ ชเวดากองอยู่ มีน้ำหนักถึง 1,100 กิโลกรัม ช่างพม่าจะใช้ทองคำแท้ๆ นำมาตีเป็นแผ่นเรียงปิดองค์เจดีย์ไว้ บนยอดของพระเจดีย์ มีเพชรอยู่ 5,448 เม็ด โดยเฉพาะยอดสุดมีเพชรเม็ดใหญ่ อยู่ 72 กระรัต และทับทิม 2,317 เม็ด
         นอกจากเจดีย์ชเวดากองแล้ว ในอาณาจักรพุกามมีการสร้างเจดีย์อีกมากมาย เพราะชาวพุกามเชื่อว่า การสร้างเจดีย์จะได้อานิสงส์สูงสุด ตลอดที่ราบริมฝั่งอิรวดีพื้นที่กว้างไกลสุดสายตา ล้วนประดับประดาไปด้วยเจดีย์มากมาย กล่าวกันว่ามีถึง 4,000 องค์ทีเดียว เมืองพุกามจึงได้ชื่อว่า ทะเลเจดีย์  ด้วยเหตุนี้พุกามจึงได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก (World Heritage) จาก UNESCO แต่ทุกวันนี้เหลือเจดีย์อยู่เพียง 2,000 กว่าองค์เท่านั้น ส่วนมากเป็นเจดีย์ร้าง   แต่ด้วยแรงศรัทธาและความเกรงกลัวบาปที่ฝังลึกในจิตใจของชาวพม่า เจดีย์จึงยังยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกทำลาย พระพุทธรูปยังคงประดิษฐานงดงามอยู่ทุกซุ้มเจดีย์ แม้แต่อุณาโลมเพชร ทับทิม หรือมรกต ก็ยังไม่มีชาวพม่าคนใดกล้าลักขโมย
         หลังจากสมัยพระเจ้าอโนรธาแล้ว พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์เรื่อยมา จนกระทั่งสมัยพระเจ้านรปฏิสิทธุทรงส่งสมณทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ลังกา ในปี พ.ศ.1733 โดยมีพระอุตราชีวะเป็นประธาน ครั้งนั้นมีเด็กชาวมอญคนหนึ่งชื่อ ฉะบัฏ ได้บวชเป็นสามเณรติดตามไปยังลังกาด้วย และได้อุปสมบทในลัทธิลังกาวงศ์ ภายหลังเดินทางกลับพม่าพร้อมกับพระภิกษุอีก 4 รูป ได้ตั้งนิกายใหม่ในพม่าคือนิกายสิงหล พระภิกษุนิกายนี้ ไม่ยอมรับว่า พระนิกายเดิมคือ มะระแหม่ง ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้อง จึงเกิดการขัดแย้งกันเป็นเวลานานถึง 3 ศตวรรษและในที่สุดนิกายสิงหลก็เป็นฝ่ายชนะ
         อาณาจักรพุกามเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้านรสีหปติ ในปี พ.ศ.1799 - 1830 กองทัพมองโกลบุกเข้าตีพุกามจนแตก ผลของสงครามทำให้พุกามอ่อนแอลงมาก มะกะโทจึงประกาศเอกราชปลดแอกอาณาจักรมอญ หลังจากเป็นเมืองขึ้นของพุกามตั้งแต่ปี พ.ศ.1600 และสถาปนาราชวงค์ชานขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ
         เมาะตะมะเป็นเมืองหลวงของมอญจนถึงปี พ.ศ.1912 จึงย้ายไปยังหงสาวดี ในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ.2015 - 2035) อาณาจักรมอญเจริญสูงสุด ทรงรวมสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมแตกแยกเป็น 6 คณะ ทรงให้คณาจารย์ 6 สำนักมาประชุมกัน ทรงขอร้องให้ไปอุปสมบทใหม่ในลังกาเพื่อให้เกิดความเสมอภาค คณะสงฆ์ก็เห็นชอบด้วยจึงเดินทางไปอุปสมบทใหม่ที่ลังกา โดยมีพระคณาจารย์ 22 รูป พระอนุจรอีก 22 รูป
         เมื่อกลับมาสู่เมืองหงสาวดีแล้วพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ประกาศราช โองการให้พระสงฆ์ทั่วแผ่นดินสึกให้หมด แล้วบวชใหม่กับคณะสงฆ์ที่บวชจากลังกา  โดยเรียกคณะใหม่ว่า คณะกัลยาณี ในครั้งนั้นมีพระบวชในคณะกัลยาณีถึง 15,666 รูป คณะสงฆ์เมืองหงสาวดีจึงเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง  แต่หลังจากพระองค์สวรรคตแล้วสงฆ์ก็แตกแยกกันอีก
         ในพุทธศตวรรษที่ 21 นี้ (พ.ศ.2001 - 2100) ชนชาติโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับประเทศพม่า มีชาวโปรตุเกสคนหนึ่งได้ช่วยพระเจ้ายะไข่ปราบกบฏ จนมีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสีเรียม จึงถือโอกาสเผยแพร่ลัทธิโรมันคาทอลิก และเบียดเบียนพระพุทธศาสนา เช่น ริบทรัพย์สมบัติของวัด  ห้ามประชาชนใส่บาตร  พระสงฆ์ต้องลี้ภัยไปกรุง  อังวะเพื่อร้องทุกข์ ในที่สุดพม่ากับมอญได้ร่วมมือกันกำจัดพวกโปรตุเกส จับตรึงไม้กางเขนตายหลายคน
         หลังยุคพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว ในปี พ.ศ.2094 หงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่า อาณาจักรพม่ารุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยบุเรงนอง ทรงขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวางจนได้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศ มีประเทศราชทั่วสุวรรณภูมิ คือ อังวะ แปร เชียงใหม่ อยุธยา ยะไข่ ล้านช้าง และหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ทรงครองราชย์อยู่ได้ 30 ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2124
         เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน แต่ไม่มีอำนาจเหมือนพระบิดา เมืองขึ้นต่างๆ จึงประกาศตัวเป็นอิสรภาพรวมทั้งไทยด้วย พวกมอญได้นิมนต์ พระภิกษุชาวกะเหรี่ยงรูปหนึ่งชื่อว่า พระสะล่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางเวทมนตร์คาถา เชิญให้สึกออกมาคิดแผนการไล่พม่าจน สำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครหงสาวดีในปี พ.ศ. 2283 มีพระนามว่า พระเจ้าสทิงทอพุทธเกติ ทรงแผ่อิทธิพลตีเมืองตองอูและเมืองแปรได้สำเร็จ แต่เรืองอำนาจอยู่เพียง 7 ปีเท่านั้น ในปี พ.ศ.2300 ก็ได้สูญสิ้นอำนาจให้แก่พม่าอีก และตั้งแต่นั้นมอญก็ไม่มีโอกาสกอบกู้เอกราชอีกเลยตราบกระทั่งปัจจุบัน
         ในพุทธศตวรรษที่ 24 อังกฤษทำสงครามกับพม่าและได้ชัยชนะ จากนั้นพยายามตักตวงทรัพยากรต่างๆ โดยที่กษัตริย์พม่าไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ พระเจ้ามินดงจึงก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระเจ้าปะกันในปี พ.ศ.2396 ในสมัยพระองค์มีการสังคายนาพระไตรปิฎกนิกายเถรวาทครั้งที่ 5 ขึ้น ณ เมืองมัณฑะเลย์ในปี พ.ศ.2414 ได้จารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน 729 แผ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์หลายชาติ คือ ศรีลังกา ไทย กัมพูชา และลาว
         ต่อมาพระเจ้าธีบอว์พระโอรสของพระเจ้ามินดงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2421 พระองค์ถูกอังกฤษเนรเทศไปอยู่อินเดีย ในช่วงนี้ศาสนาคริสต์ได้โจมตีพระพุทธศาสนา พระสงฆ์แสดงธรรมต่อต้านอังกฤษและเดินขบวนอย่างเปิดเผย พระบางรูปถูกจับไปขังคุกก็มี
         พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2492 พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง มีการสังคายนาครั้งที่ 6 ขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2497 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2499 การทำสังคายนานี้ทำขึ้นในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยเชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี เช่น พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา
 
4. ประเทศลาว     
          ประเทศลาวมีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao Peoples Democratic Republic) ปัจจุบันปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ มีเมืองหลวงชื่อเวียงจันทน์และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 5,924,000 คน (พ.ศ. 2548) 60% นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท 40% นับถือภูตผี (Animism) และอื่นๆ ดินแดนลาวมีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลาช้านานแล้ว  แต่ประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนเพิ่งปรากฏขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ในนามของอาณาจักรล้านช้าง สถาปนาขึ้นโดยพระยาฟ้างุ้ม เมื่อปีพุทธศักราช 1896
          พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างโดยพระนางแก้วยอดฟ้า พระมเหสีของพระยาฟ้างุ้ม ทรงทูลขอให้พระราชาส่งทูตไปนิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทจากกัมพูชาเข้ามาเผยแผ่ ในล้านช้าง ครั้งนั้นพระมหาปาสามานเจ้าเป็นหัวหน้าคณะเดินทางมาประกาศพระศาสนา ตามคำนิมนต์ของพระยาฟ้างุ้ม
         พระมหาปาสามานเถระและคณะเดินทางออกจากกัมพูชาในปี พ.ศ.1902 ได้นำพระพุทธรูปปางห้ามญาติชื่อ พระบาง และพระไตรปิฎกมาถวายแก่พระเจ้าฟ้างุ้มด้วย เมื่อคณะสงฆ์เดินทางมาถึงเวียงจันทน์  เจ้าเมืองจันทน์ได้นิมนต์พักสมโภชน์พระบางอยู่ 3 คืน 3 วัน แล้วเดินทางต่อไปยังเวียงคำ ประชาชนได้มาสมโภชน์พระบางกัน 3 คืน 3 วันเช่นกัน ครั้นจะเดินทางต่อไปกลับปรากฏเหตุอัศจรรย์คือไม่สามารถยกพระพุทธรูปไปได้ จึงเสี่ยงทายว่าเทวดาอารักษ์คงปรารถนาจะให้พระบางอยู่ที่เวียงคำ คณะสงฆ์จึงเดินทางไปยังเมืองเชียงทองโดยไม่ได้นำพระพุทธรูปไปด้วย ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าฟ้างุ้มกับพระมเหสี และเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเจริญรุ่งเรือง 
         สมัยพระเจ้าวิชุลราชาธิปัต (พ.ศ.2044 - 2063) พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่พระพุทธศาสนา เช่นกัน ทรงสร้างวัดบรมมหาราชวังเวียงทอง วัดวิชุลราช และอัญเชิญพระบางจากเวียงคำมาประดิษฐานที่วัดนี้ ในรัชสมัยพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ.2063 - 2090) ทรงสร้าง   วัดสุวรรณเทวโลก และมีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา ให้รื้อศาลหลวง     ศาลเจ้าต่างๆ แล้วให้ประชาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน 
         หลังจากพระเจ้าโพธิสารราชสวรรคตแล้ว พระโอรสต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรล้านช้างจึงแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ พระเจ้าไชยเชษโฐแห่งล้านนาจึงยกทัพมาตีกรุงล้านช้างและยึดได้ทั้งสอง อาณาจักร แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสถาปนา กรุงศรีสัตนาคณหุต เป็นเมืองหลวง และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
         พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมีความเจริญสูงสุด ทรงสร้างวัดสำคัญมากมาย เฉพาะในกำแพงเมืองมีวัดอยู่ประมาณ 120 วัด ทรงสร้างวัดพระแก้วขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตซึ่งอัญเชิญมาจากเมือง เชียงใหม่ ยุคนี้ราชอาณาจักรไทยก็มีความสัมพันธ์กับลาวอย่างแน่นแฟ้นเพราะได้ร่วมมือ กันต่อสู้กับพม่า มีการสร้างเจดีย์พระธาตุศรีสองรัก ขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน
         พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายเมืองหลวงจากเชียงคำมาอยู่ที่ เวียงจันทน์ ทรงประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เวียงจันทน์ ส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ ทรงสร้างพระธาตุหลวงขึ้น นับเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวในปี พ.ศ.2109 ทรงสร้างพระธาตุอื่นๆ และพระพุทธรูปอีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างพุทธสถานที่หนองคายหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุ พระธาตุบังพวน วัดศรีเมือง พระประธานในโบสถ์ที่วัดนี้มีนามว่า พระไชยเชษฐา
         หลังจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสวรรคตแล้ว  ในปี พ.ศ. 2117-2118 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ ทรงนำโอรสของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปเป็นประกัน ต่อมาปี พ.ศ.2134 พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ได้ประชุมกันและลงมติให้ส่งทูตไปเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ในพม่ามาครองราชย์ ในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว พม่าจึงอ่อนแอลง  เจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์สมบัติในปี พ.ศ.2135 มีพระนามว่า พระเจ้าสุริยวงศา และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป
        หลังจากสิ้นรัชกาลของพระเจ้าสุริยวงศาแล้ว ในปี พ.ศ.2235 ลาวแตกเป็น 2 อาณาจักร คือ หลวงพระบางกับเวียงจันทน์ ในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกทัพมาตีเวียงจันทน์และยึดได้สำเร็จในปี พ.ศ.2321 ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย ต่อมาปี พ.ศ.2436 อาณาจักรลาวก็ตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส ถูกครอบครองอยู่ 45 ปี ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492
         พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประเพณี ความคิด ความเชื่อของประชาชนลาว ประเพณีทำบุญธาตุหลวง เป็นประเพณีประจำชาติที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ  นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนามากมาย พระพุทธศาสนายังมีบทบาทในการสงเคราะห์ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของชุมชนในด้านให้คำปรึกษา สงเคราะห์ปัจจัยสี่แก่ประชาชน วัดได้เป็นศูนย์กลางการพบปะของชาวบ้าน เป็นต้น ในปัจจุบันลาวอยู่ในภาวะสงบ พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐเป็นอย่างดี มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาสงฆ์ขึ้น เช่น วิทยาลัยสงฆ์ประจำกรุงเวียงจันทน์ เป็นต้น

5. ประเทศเวียดนาม
 
        เวียดนาม (Vietnam) แปลว่า อาณาจักรฝ่ายทักษิณ มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) มีเมืองหลวงชื่อฮานอย เมืองใหญ่ที่สุดคือโฮจิมินห์ซิตี้  เวียดนามมีประชากรประมาณ 84,238,000 คน (พ.ศ.2548) โดย 50% นับถือพระพุทธศาสนามหายาน และอีก 50% นับถือศาสนาขงจื๊อและคริสต์ศาสนา
         เวียดนามในอดีตแบ่งเป็น 3 อาณาเขต คือ ตังเกี๋ย (Tong king) ได้แก่ แถบลุ่มแม่น้ำแดง อานัม (Annam) ได้แก่ แผ่นดินส่วนแคบยาวตามชายฝั่งทะเล อยู่ตอนกลางระหว่างตังเกี๋ยกับโคชินจีน และโคชินจีน (Cochin China) ได้แก่ แผ่นดินส่วนล่างทั้งหมด อาณาจักรอานัมมีอายุเกือบ 3 พันปี แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จนกระทั่งปี พ.ศ.433 ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนและถูกปกครองอยู่นานกว่า 1,000 ปี จึงทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาก ในระยะนี้เองเวียดนามมีชื่อว่า อานัม 
         พระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรอานัมประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งอยู่ระหว่างที่อานัมยังตกเป็นเมืองขึ้นของจีน สันนิษฐานว่าท่านเมียวโป (Meou-Po) ได้นำนิกายมหายานจากจีนเข้ามาเผยแผ่ และยังสันนิษฐานว่า  พระชาวอินเดีย 3 รูป คือ พระมหาชีวก พระกัลยาณรุจิ และพระถังเซงโฮย เดินทางมาเผยแผ่ในยุคนี้ด้วยแต่ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะกษัตริย์จีน นับถือศาสนาขงจื๊อ ทรงไม่พอพระทัยที่มีคนนับถือพระพุทธศาสนา
         ต่อมาปี พ.ศ.1482 ชาวเวียดนามกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ พระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง ครั้งนั้นพระภิกษุชาวอินเดียชื่อ วินีตรุจิ เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซนในจีน แล้วเดินทางต่อเพื่อมาเผยแผ่ในเวียดนาม ต่อมาในปี พ.ศ.1511 - 1522 รัฐบาลจัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยรวมเอานักบวชเต๋ากับพระสงฆ์เข้าในระบบฐานันดรศักดิ์เดียวกัน พระจักรพรรดิทรงสถาปนาพระภิกษุง่อฉั่นหลู เป็นประมุขสงฆ์และแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ด้วย
         พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยราชวงศ์ไล เพราะเป็นศาสนาเดียวที่ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ รัชสมัยพระเจ้าไลไทต๋อง (พ.ศ.1571 - 1588) โปรดให้สร้างวิหาร 95 แห่ง รัชสมัยพระเจ้าไลทันต๋อง (พ.ศ.1597 - 1615) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเอาใจใส่ กิจการบ้านเมืองและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเจริญรอยตามพระเจ้าอโศกมหาราช 
          เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีกครั้งในปี พ.ศ.1957 - 1974 จึงทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมไปมาก เพราะกษัตริย์ราชวงศ์หมิงของจีนส่งเสริมแต่ลัทธิขงจื๊อและเต๋า จีนได้ทำลายวัดเก็บเอาทรัพย์สินและคัมภีร์พุทธศาสนาไปหมด หลังจากได้รับเอกราชแล้วสถานการณ์พระพุทธศาสนายังไม่ดีขึ้น  เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ก็ไม่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา 
          ต่อมาปี พ.ศ.2014 พระเจ้าเลทันต๋องรวบรวมอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่ง ของเวียดนามได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่นานคือในปี พ.ศ.2076 เวียดนามได้แตกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือ ฝ่ายเหนือ ได้แก่ ตังเกี๋ยของตระกูลตรินห์ (Trinh) และฝ่ายใต้ ได้แก่ อานัมของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) ทั้ง 2 อาณาจักรทำสงครามกันมาเป็นเวลา 270 ปี ในช่วงนี้ต่างฝ่ายต่างทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีการสร้างวัดและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย
          ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 ชาวตะวันตกหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ เดินทางเข้ามาค้าขายและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเวียดนาม เผยแพร่ คำสอนอยู่ได้ 200 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2370 - 2401 ชาวเวียดนามปราบปรามพวกคริสต์อย่าง เด็ดขาด นักสอนศาสนาถูกฆ่าตายจำนวนมาก และยังฆ่าชาวคริสต์ญวนอีกนับ 100,000 คนด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้เวียดนามกับอังกฤษขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในที่สุด ปี พ.ศ.2402 อังกฤษก็เข้ายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น
          หลังพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ในปี พ.ศ.2426 เวียดนามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสอีก สมัยนี้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงมาก เพราะถูกเบียดเบียนจากพวกฝรั่งเศส มีการห้ามสร้างวัดเว้นแต่ได้รับอนุญาต จำกัดสิทธิพระสงฆ์ในการรับไทยธรรม   และจำกัดจำนวนพระภิกษุด้วย ชาวพุทธถูกกีดกันจากตำแหน่งบริหารระดับสูงในหน่วยงานราชการ ส่วนผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และโอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสจะได้รับ สิทธิพิเศษ  ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงมีท่าทีว่าจะสูญสิ้นไปจากเวียดนาม  
         ในท่ามกลางความทุกข์ยากอันเกิดจากการตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส นี้เอง ได้มีบุคคลผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่เวียดนามตอนกลางในปี พ.ศ.2469 ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวตะวันตกในนาม ติช นัท ฮันห์ ผู้อุทิศชีวิตต่อต้านสงครามเพื่อสันติภาพจนได้รับการเสนอชื่อโดยดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ให้เข้ารับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ.2510  
         ท่านติช นัท ฮันห์ ออกบวชเมื่ออายุได้ 16 ปี ในช่วงสงครามเวียดนาม (พ.ศ.2503 - 2518) ท่านออกจากวัดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและรณรงค์ต่อต้านสงคราม ในปี พ.ศ.2509 ท่านเดินทางไปสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของสมาพันธ์เพื่อการสมานไมตรี ในครั้งนั้นท่านได้กล่าวถึงความเจ็บปวดของชาวเวียดนามอันเกิดจากผลของสงคราม การเคลื่อนไหวของท่านทำให้รัฐบาลเวียดนามประกาศขู่ว่าจะจับกุม ด้วยเหตุนี้ท่านติช นัท ฮันห์ จึงไม่อาจจะกลับบ้านเกิดได้ตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาไปปักหลักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมคือ หมู่บ้านพลัมขึ้นในปี พ.ศ.2525 และพำนักอยู่ที่นั่นตราบกระทั่งปัจจุบัน
         หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจากการยึดครองของฝรั่งเศส จนมีท่าทีว่าจะสูญสิ้นไป ในปี พ.ศ.2474 ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ มีการจัดตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาศึกษา ขึ้นหลายแห่งที่เมืองไซง่อน เมืองเว้ (อานัม) และเมืองฮานอย โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ มีการปฏิรูปพระวินัยของสงฆ์และส่งเสริมให้พระภิกษุศึกษาพระพุทธศาสนาแบบใหม่ ได้จัดพิมพ์วารสารและแปลคัมภีร์ต่างๆ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก สามารถเปลี่ยนความคิดของปัญญาชนผู้ผิดหวังจากวัตถุนิยมตะวันตก ให้หันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนาได้มากมาย 
         ในปัจจุบันชาวเวียดนามนับถือพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และขงจื๊อ เป็นการนับถือแบบผสมผสาน มีการเปิดสอนพระพุทธศาสนาขึ้น ณ มหาวิทยาลัยวันฮันห์ จัดตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนาม ปัจจุบันเปิดสอน 4 คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และคณะภาษาศาสตร์ โดยคณะพุทธศาสตร์ และบูรพาวิทยา มี 9 ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั่วไป พระพุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก
 
6. ประเทศอินโดนีเซีย 
         อินโดนีเซีย (Indonesia) มีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) เป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเมืองหลวงชื่อ จาการ์ตา และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 222,781,000 คน (พ.ศ.2548) นับถือศาสนาอิสลาม 87% ศาสนาคริสต์ 9.5% ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 1.8% ศาสนาพุทธ 1.3% ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลกคือประมาณ 193,819,470 คน ชาวมุสลิมเหล่านี้มีความเคร่งครัดต่อศาสนามาก ในวันฮารีรายอ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประกอบศาสนกิจที่มัสยิดหลายล้านคน
          แม้ในปัจจุบันอินโดนีเซียจะเป็นประเทศมุสลิม แต่ในอดีตพระพุทธศาสนามหายานเคยเจริญมาก่อน มีอนุสรณ์สถานสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา คือ โบโรบุดุร์ (Borobudur) หรือบรมพุทโธ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในที่ราบเกตุ (Kedu) ภาคกลางของเกาะชวา มีรูปทรงคล้ายกับพุทธวิหารที่พุทธคยา แต่กดให้แบนลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูง 42 เมตร มีขนาดรวม 123 ตารางเมตร  ภายหลังถูกฟ้าผ่าและภูเขาไฟระเบิดจึงทำให้ความสูงลดลงเหลือเพียง 31.5 เมตร หินที่ใช้ก่อสร้างและสลัก เป็นหินที่ได้จากลาวาภูเขาไฟประมาณ 55,000 ตารางเมตร
          ดร.กรอม (Krom) กล่าวว่า "โบโรบุดุร์" มาจากคำว่า "ปะระ + พุทธ" ดร. สตัทเตอ- ไฮม์ (Statterheim) สันนิษฐานว่า "บุดุร" มาจากคำว่า "บุดิว" (Budue) ในภาษามีนังกะบัว (Minangebau) แปลว่า "เด่น ยื่นออกมา" ฉะนั้น "โบโรบุดุร์" จึงควรแปลว่า "วิหารที่เด่นอยู่บนยอดเขา" จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวว่า คำว่า "โบโรบุดุร์" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า    "ปรมะ + พุทธ" ซึ่งหมายถึง "พุทธ (วิหาร) ที่ยิ่งใหญ่"
         พระพุทธศาสนาเข้าสู่อินโดนีเซียในตอนต้นศตวรรษที่ 1 (ค.ศ.1-100 / พ.ศ.544 - 643) ผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลระหว่างอินเดียและอินโดนีเซีย โดยคณะพ่อค้าชาวพุทธนำเข้ามาเผยแผ่ ตั้งแต่บัดนั้นพระพุทธศาสนาจึงค่อยๆ เจริญขึ้นและเจริญสูงสุดในช่วงราชวงศ์ไสเล็นทรา (Sailendra) ในปี พ.ศ.1293 - 1393 เหล่ากษัตริย์ในราชวงศ์นี้นับถือพระพุทธศาสนา มหายานนิกายวัชรยาน ได้สร้างมหาสถูปบรมพุทโธขึ้นในช่วงปี พ.ศ.1323 - 1376 มหาสถูปนี้ เป็นอนุสรณ์สถานทางพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่สิ่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอิทธิพลและเป็นแบบอย่างต่อการก่อสร้างพุทธสถานในยุคต่อมา เช่น นครวัด (Angkor Wat) ในประเทศกัมพูชา เป็นต้น
         ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 พ่อค้าอาหรับนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่และได้ขยายไปทั่วประเทศประมาณศตวรรษ ที่ 14  ยุคนี้เป็นยุคเสื่อมของพระพุทธศาสนา บรมพุทโธถูกปล่อยปละละเลยให้ถูกห้อมล้อมอยู่กลางป่ารกชัฏ จนกระทั่งปี พ.ศ.2357 เซอร์ โทมัส แรฟึล (Sir Thomas Raffles) ได้ค้นพบบรมพุทโธอีกครั้งและทำการปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพดี ต่อมาปี พ.ศ.2515 - 2525 รัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับองค์การยูเนสโกได้ปฏิสังขรณ์บรมพุทโธครั้งใหญ่ และจัดให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกอีกด้วย 
         ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงที่อิสลามเจริญรุ่งเรือง พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียอันน้อยนิดได้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาไว้มิให้ สูญสิ้นไป มีชาวพุทธจากประเทศต่างๆเข้าไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอยู่เป็นระยะๆ ในปี พ.ศ.2512 คณะสงฆ์ไทยจัดส่งพระธรรมทูตเข้าไป ได้ตั้งสำนักงานพระพุทธเมตตาขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันอินโดนีเซียมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ประมาณ 150 วัด เป็นวัดฝ่ายมหายาน 100 วัด วัดนิกายเถรวาท 50 วัด วัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของฆราวาส เนื่องจากพระภิกษุมีอยู่น้อย