วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 11 พระพุทธศาสนาในเอเชียใต้




เอเชียใต้ประกอบด้วยประเทศบนเทือกเขาหิมาลัย ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ภูฏานและบังกลาเทศ รวมทั้งประเทศในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ ศรีลังกาและมัลดีฟส์  ประเทศเหล่านี้เป็นต้นแหล่งแห่งพระพุทธศาสนาในยุคแรก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นท่ามกลางสังคมอินเดียที่มีความหลากหลายทางด้านความ เชื่อ แต่ด้วยเวลาเพียงไม่นานก็สยบความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมลงได้ จนกลายเป็นศาสนาที่สูงเด่นในครั้งพุทธกาล ยุคต่อมาก็ค่อยๆ แผ่ขยายผ่านเส้นทางสายไหมไปยังนานาประเทศโดยรอบ ดังจะได้บรรยายในแต่ละประเทศดังนี้
 

1. ประเทศเนปาล

ประเทศเนปาลมีชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรเนปาล (Kingdom of Nepal) ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับทิเบต และอินเดีย มีเมืองหลวงชื่อ กาฐมาณฑุ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เนปาลมีประชากรประมาณ 27,133,000 คน (พ.ศ.2548) The 2001 census (พ.ศ.2544) ระบุว่า ชาวเนปาล 80.6% นับถือศาสนาฮินดู 10.7% (ประมาณ 2,903,231 คน) นับถือศาสนาพุทธ 4.2% เป็นมุสลิม 3.6% นับถือคิรัท (Kirat) ซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมือง 0.5% นับถือศาสนาคริสต์ และ 0.4% นับถือศาสนาอื่นๆ
 
พระพุทธศาสนาเข้าสู่เนปาลตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้เพราะกรุงกบิลพัสดุ์อันเป็นเมืองประสูติของพระโพธิสัตว์ ซึ่งในอดีตอยู่ในรัฐอุตตระของอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในเขตเนปาลขณะที่อังกฤษปกครองอินเดีย ได้แบ่งกรุงกบิลพัสดุ์ให้เป็นส่วนของเนปาล ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์เคยเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ นอกจากนี้หลังพุทธปรินิพพานแล้วพระอานนท์ก็ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในบริเวณ นี้ ชาวเนปาลส่วนหนึ่งจึงนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยุคพุทธกาล
 
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงพระราชทานพระราชธิดาพระนามว่า จารุมตี แก่ขุนนางใหญ่ชาวเนปาล พระเจ้าอโศกมหาราชและเจ้าหญิงจารุมตีทรงสร้างวัดและเจดีย์หลายแห่งในเนปาล ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ที่กรุงกาฐมาณฑุในปัจจุบัน
 
พระพุทธศาสนาในยุคแรกเป็นนิกายเถรวาท ต่อมาเมื่อเสื่อมสูญไป เนปาลกลายเป็นศูนย์กลางของมหายานนิกายตันตระ ซึ่งใช้คาถาอาคมและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีพุทธปรัชญาสำนักใหญ่ๆ เกิดขึ้นอีก 4 นิกาย คือ สวาภาวิภะ ไอศวริกะ การมิกะและยาตริกะ ซึ่งแต่ละนิกายยังแยกย่อยออกไปอีก นิกายต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานเข้าด้วยกันของความคิดทางปรัชญาหลายๆ อย่าง ชาวเนปาลได้รักษาสืบทอดพุทธปรัชญาเหล่านี้มาจนถึง ปัจจุบัน ในแต่ละนิกายมีคำสอนดังนี้ 
1. นิกายสวาภาวิภะ นิกายนี้สอนว่า สิ่งทั้งหลายในโลกมีลักษณะแท้จริงในตัวของมันเอง ซึ่งแสดงออกเป็น 2 ทาง คือ ความเจริญ (ปฺรวฺฤตฺติ) และความเสื่อม (นิวฺฤตฺติ) 
2. นิกายไอศวริกะ นิกายนี้สอนให้เชื่อในเทพเจ้าผู้สมบูรณ์ที่สุด และมีอำนาจที่สุด 
3. นิกายการมิกะ นิกายนี้สอนการอบรมจิตใจ เพราะเป็นวิธีกำจัดอวิชชาให้หมดสิ้นได้ 
4. นิกายยาตริกะ นิกายนี้สอนให้เชื่อในความมีอยู่ของวุฒิปัญญาและเจตจำนงอิสระ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างปรัชญาต่างๆ ของอินเดียและทิเบต ภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา
 
ในสมัยที่ชาวมุสลิมเข้ารุกรานแคว้นพิหารและเบงกอลของอินเดีย พระภิกษุจากอินเดียต้องหลบหนีภัยเข้าไปอาศัยในเนปาล และได้นำคัมภีร์พระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย ซึ่งมีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียถูกทำลาย   ก็ส่งผลให้พระพุทธศาสนาในเนปาลพลอยเสื่อมลงด้วย
          
ปัจจุบันเนปาลมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทขึ้นใหม่ โดยส่งพระภิกษุสามเณรไปศึกษาในประเทศต่างๆ เช่น ศรีลังกา พม่า และไทย เมื่อกลับมาเนปาลแล้วก็ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพระภิกษุที่เดินทางไปศรีลังกาได้อาราธนาท่านธรรโทรยะสุภะ ภิกษุชาวศรีลังกามาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วย มีการแปลพระสูตรจากภาษาบาลีเป็นภาษาท้องถิ่นแล้วจัดพิมพ์ออกเผยแพร่

2. ประเทศภูฏาน  
 
ประเทศภูฏานมีชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan) เป็นประเทศเล็กๆ มีพื้นที่เพียง 47,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนเชิงเขาหิมาลัย อยู่ทางตอนใต้ของจีนและทิเบต เหนือบังกลาเทศและอินเดีย ติดกับเนปาล มีเมืองหลวงชื่อ ทิมพู ลักษณะการปกครองเป็นแบบกึ่งศาสนากึ่งอาณาจักรคล้ายกับทิเบต แต่มีความต่างกันบ้าง คือทิเบตมีองค์ทะไล ลามะเป็นผู้นำทั้งทางศาสนาและอาณาจักร ส่วนภูฏานมีกษัตริย์ปกครองประเทศ และมีพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์สูงสุด เรียกว่า เจ เคนโป (Je Khenpo) เป็นประมุขสงฆ์และช่วยบริหารราชการแผ่นดินด้วย เจ เคนโป มีฐานะเทียบเท่ากษัตริย์ ในอดีตการปกครองของทั้งสองประเทศเหมือนกัน ประชากรในภูฏานมีประมาณ 752,700 คน (พ.ศ. 2548)  โดย 74% นับถือพระพุทธศาสนา นิกายตันตรยาน 25% นับถือศาสนาฮินดู 0.7% เป็นมุสลิมและ 0.3% นับถือศาสนาคริสต์ 

 
พระพุทธศาสนาในภูฏานมีลักษณะแบบเดียวกับทิเบต โดยท่านคุรุปัทมสัมภวะเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาตันตระมาเผยแผ่ครั้งแรกในช่วง พุทธศตวรรษที่ 14 ต่อมาในปี พ.ศ.1763  ลามะทิเบตชื่อ ปาโช ดรุกอมชิโป (Phajo Drugom Shigpo) เดินทางมาเผยแผ่นิกายดรุกปะกาจู (Drukpa Kagyupa) ซึ่งพระลามะในนิกายนี้สามารถมีภรรยาได้ ในระหว่างที่ลามะปาโชเดินทางไปเมืองทิมพู ท่านได้แต่งงานกับนางโซนัม พอลดอน มีบุตรสาว 1 คน บุตรชาย 4 คน ลามะปาโชเป็นที่เคารพนับถือของชาวภูฏานมาก เป็นผู้นำทั้งศาสนจักรและอาณาจักร เช่นเดียวกับทิเบต ต่อมาบุตรชายทั้ง 4 คน ได้ครองเมืองคนละเมือง นิกายดรุกปะกาจูได้เป็นนิกายที่สำคัญของประเทศภูฏานจนถึงปัจจุบัน
 
 
ในช่วงแรกๆ ภูฏานรับแบบอย่างการปกครองมาจากทิเบต คือ ผู้นำประเทศจะเป็นผู้นำทางศาสนาด้วย  ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลงคือ กษัตริย์ทำหน้าที่ปกครองฝ่ายบ้านเมือง ส่วนพระสังฆราชหรือ เจ เคนโป ปกครองสงฆ์เป็นหลัก แต่ก็มีส่วนในการปกครองประเทศด้วย โดยพระสงฆ์มี 10 ที่นั่งในสภา ผู้วางรากฐานการปกครองนี้คือ ลามะชับดรุง งาวัง นัมเยล (Shabdrung Ngawang Namgyel; พ.ศ.2137 - 2194) การปกครองระบอบนี้ใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ โล ทริม มิ ลุ ทริม คือกฎหมายทางใจ และซา ลุง มิ ลุ ลุง คือกฎหมายทางโลก 
 

ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2548 พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบ ประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญและมีคณะองคมนตรีเป็นที่ ปรึกษา สภาแห่งชาติ ของภูฏานเรียกว่า Tsongdu ทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ประกอบด้วยสมาชิก 151 คน จำนวน 106 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีก 55 คน มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์
 
ชาวภูฏานมีเทศกาลที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งคือ เทศกาลเตชู (Tsechu) ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อระลึกถึงการกำเนิดของท่านคุรุปัทมสัมภวะ ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าถือกำเนิดมาจากดอกบัวตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน เทศกาลนี้จะจัดขึ้นทุกปีหมุนเวียนไปตามปฏิทินทางจันทรคติ ในเทศกาลจะมีการแสดงระบำหน้ากาก โดยพระลามะ  ผู้แตกฉานในตำราวัชรยาน จะสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงามหลากหลายด้วยหน้ากากแห่งทวยเทพ ปีศาจและเหล่าสรรพสัตว์

3. ประเทศบังกลาเทศ

 
บังกลาเทศมีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (Peoples Republic of Bangladesh) คำว่า "บังกลาเทศ (Bangladesh)" แปลว่า "ประเทศแห่งเบงกอล" ตั้งอยู่ทาง ทิศเหนือของอ่าวเบงกอล มีพรมแดนติดกับอินเดียเกือบทุกด้าน เมืองหลวงชื่อ ธากา เป็นเมืองใหญ่สุด บังกลาเทศมีประชากรประมาณ 141,822,000 คน (พ.ศ.2548) นับถือศาสนา  อิสลาม 88.3% ศาสนาฮินดู 10.5% ศาสนาคริสต์ 0.7% ศาสนาพุทธ 0.5% ส่วนมากอยู่ในเขตจิตตะกอง ซึ่งมีตระกูลชาวพุทธที่สืบเนื่องมายาวนานคือตระกูลบารัว
 
 
บังกลาเทศในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,000 ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ อินเดีย  เคยเป็นดินแดนที่ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ จนชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมาถึงทุกวันนี้
 
 
ปี พ.ศ.2300 อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียและปกครองอยู่เกือบ 200 ปี ได้คืนเอกราชให้อินเดียในปี พ.ศ.2490 แต่แบ่งดินแดนออกเป็น 2 ส่วน คือ อินเดีย และปากีสถาน เบงกอลตะวันออก (East Bengal) หรือส่วนที่เป็นบังกลาเทศปัจจุบัน เป็นจังหวัดหนึ่งของปากีสถานเรียกกันว่าปากีสถานตะวันออก ต่อมาชาวปากีสถานตะวันออกไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2514 จึงประกาศแยกตัวออกมา และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2514

 
พระพุทธศาสนาเข้าสู่บังกลาเทศหลายยุคหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้สังเกตได้จากวัฒนธรรมของชาวเบงกอลคล้ายคลึงกับชาวมคธ ในปี พ.ศ.243 พระเจ้าอโศกมหาราชเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังดินแดนแห่งนี้ด้วย และในปี พ.ศ.600 สมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช  ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทินและเผยแผ่เข้ามาสู่บังกลาเทศเช่น กัน หลังจากนั้นพระพุทธศาสนามหายานก็เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.1643 - 1843 พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลง ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีบทบาทแทน
 
 
ต่อมาในสมัยยะไข่ (มอญ) พระพุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองมาก สมัยนั้นจิตตะกองอยู่ภายใต้การดูแลคุ้มครองของยะไข่ มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากจาริกไปยังจิตตะกองและได้เผยแผ่สืบต่อกันมาเป็นเวลา ยาวนานถึง 100 ปี ทำให้ชาวจิตตะกองนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาจนถึงทุกวันนี้ พระพุทธศาสนาในบังกลาเทศแบ่งนิกายออก เป็น 2 นิกาย คือ 
1. นิกายมาเถ หรือมหาเถรนิกาย เป็นนิกายเก่าแก่ ยึดหลักคำสอนดั้งเดิมหรือเถรวาท มีพระภิกษุอยู่ประมาณ 40-55 รูป อยู่ที่ตำบลราอุชาน รางคุนิยา โบวาลคลี และปาจาลาอิศ 
2. นิกายสังฆราช นิกายนี้เกิดภายหลังนิกายมาเถ คือ นับย้อนไปประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง มีพระสังฆราชเมธมหาเถระ เป็นผู้ให้กำเนิด มีพระภิกษุประมาณ 800 กว่ารูป อาศัยอยู่ทั่วประเทศ

4. ประเทศศรีลังกา

 
ประเทศศรีลังกา (Sri Lanka) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Democratic Socialist Republic of Sri Lanka) ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัฐบาล และกบฏทมิฬอีแลมมายาวนาน เพิ่งมีข้อตกลงหยุดยิง เมื่อต้นปี พ.ศ.2545 ศรีลังกามีเมืองหลวงชื่อ ศรีชเยวรเทเนปุระคอตเต เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ โคลัมโบ    มีประชากรประมาณ 20,743,000 คน (พ.ศ.2548) นับถือศาสนาพุทธประมาณ 68% ฮินดู 18% และคริสต์ศาสนา 7-8% โดยส่วนใหญ่ผู้ที่นับถือฮินดูนั้นเป็นชาวทมิฬ ส่วนคริสเตียนเป็นชาวโปรตุเกส และฮอลแลนด์
 
 
ศรีลังกามีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบวช  พระภิกษุจะนิยมบวชตลอดชีวิต แต่ละปีบวชได้เพียงครั้งเดียว และแต่ละวันบวชได้เพียง 1 รูปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระภิกษุศรีลังกาจึงมีคุณภาพ ไม่ได้บวชโดยหวังพึ่งพระศาสนาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วลาสิกขาออกไป ปัจจุบันพระภิกษุที่จาริกเผยแผ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นพระจากศรีลังกาจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะท่านมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีและมีศรัทธามั่นคงใน พระพุทธศาสนา
 
 
ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทมาตั้งแต่ยุคโบราณ พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ลังกาเมื่อประมาณปี พ.ศ.236 โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระมหินทเถระและคณะไปประกาศพระศาสนาในสมัยพระ เจ้าเทวานัมปิยติสสะ มีคนออกบวชหลายพันคน พระราชาทรงอุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัด เรียกว่า วัดมหาวิหาร พระมหินทเถระได้นำพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถามาสู่ลังกา และยังได้นำอารยธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เข้าไปด้วย
 

ต่อมาพระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจำนวนมากปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิต-ตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป จึงทำให้มีสตรีออกบวชเป็นภิกษุณีกันจำนวนมาก

 
ในปี พ.ศ.4331 รัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย พวกทมิฬเข้ายึดครองอนุราธปุระเป็นเวลา 14 ปี จนพระองค์ต้องเสียราชบัลลังก์และเสด็จลี้ภัยไปซ่องสุมกำลัง ระหว่างนั้นทรงได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหาติสสะ ต่อมาเมื่อปราบพวกทมิฬได้แล้วจึงเสด็จกลับมา ครองราชย์อีกครั้ง ทรงให้ทำการสังคายนาและจารึกพระพุทธพจน์ลงใบลานเป็นครั้งแรก  นอกจากนี้ยังทรงอุปถัมภ์พระมหาติสสะพร้อมทั้งสร้างวัดอภัยคีรีวิหารถวายด้วย เป็นเหตุให้พระภิกษุมหาวิหารไม่พอใจ สงฆ์จึงแตกออกเป็น 2 คณะ คือ มหาวิหาร กับอภัยคีรีวิหาร

 
คณะมหาวิหารเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยใดๆ และยังตำหนิรังเกียจภิกษุต่าง นิกายว่าเป็นอลัชชี ส่วนคณะอภัยคีรีวิหารเป็นคณะที่เปิดกว้าง  ยอมรับเอาความคิดเห็นต่างนิกาย ไม่รังเกียจภิกษุต่างนิกาย

 
พระพุทธโฆษาจารย์ กาลต่อมามีปราชญ์พระพุทธศาสนาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ (เกิดปี พ.ศ.945) เดินทางจากอินเดียมาที่สำนักมหาวิหารเพื่อศึกษา  พระพุทธศาสนาและแปลคัมภีร์ต่างๆ ท่านรจนาคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ ประมาณ 13 คัมภีร์ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้ใช้ศึกษากันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น คัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์ วิสุทธิมรรค และคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความพระไตรปิฎกต่างๆ เช่น อรรถกถาธรรมบท อรรถกถาชาดก อรรถกถาพระวินัย อรรถกถาพระสูตรต่างๆ เป็นต้น 

 
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 17 เป็นยุคที่ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการรุกรานจากอินเดียบ้าง ความไม่สงบภายในบ้าง ในช่วงนี้เองพระภิกษุณีสงฆ์ได้สูญสิ้นไป  และพระภิกษุก็ลดน้อยลงไปมาก จนกระทั่ง พ.ศ.1609 เมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 มีพระราชประสงค์ จะฟื้นฟูพระศาสนา แต่ทรงหาพระภิกษุที่อุปสมบทถูกต้องแทบไม่ครบ 5 รูป จึงต้องอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าตอนใต้มากระทำอุปสมบทกรรมในลังกา
 
 
ในรัชสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 (พ.ศ.1697-1730) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 พระพุทธศาสนาในศรีลังการุ่งเรืองมาก มีการรวมคณะสงฆ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดวาอารามด้วยศิลปกรรมที่งดงาม ทำให้ลังกากลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธ-ศาสนา มีพระสงฆ์และนักปราชญ์จากหลายประเทศมาศึกษาจำนวนมาก 

 
ภายหลังรัชกาลนี้พวกทมิฬจากอินเดียก็มารุกรานอีก ได้เข้าตั้งถิ่นฐานมั่นคงและขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ อาณาจักรสิงหลต้องถอยร่นลงใต้และต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ยาก เพียงแต่ธำรงรักษาความมั่นคงเข้มแข็งไว้เท่านั้น ในปี พ.ศ. 2019 พระภิกษุคณะหนึ่งจากพม่ามารับการอุปสมบทที่ลังกาและนำคัมภีร์ภาษาบาลีกลับไปด้วย

 
ประมาณปี พ.ศ.2050 ชนชาติโปรตุเกสได้เข้ามาค้าขาย และใช้กำลังยึดครองดินแดนบางส่วนไว้ พยายามบังคับชาวลังกาให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้พระพุทธศาสนากลับเสื่อมถอยลง จนต้องนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศพม่ามาให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวศรีลังกาอีก
 

ในปี พ.ศ.2200 ชาวฮอลันดาได้เข้ามาค้าขายในลังกาและช่วยขับไล่พวกโปรตุเกสออกไปได้ เมื่อฮอลันดายึดครองพื้นที่ได้จึงนำเอาคริสต์ศาสนามาเผยแพร่อีก และพยายามกีดกันพระพุทธศาสนา สถานการณ์พระพุทธศาสนาในขณะนั้นย่ำแย่ลงมาก ชาวพุทธเองก็มัวแต่รบราฆ่าฟันกัน อีกทั้งยังเกิดวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง พระภิกษุสงฆ์อดรนทนไม่ไหวได้ทิ้งวัดวาอารามไปจนหมด แต่มีสามเณรเหลืออยู่บ้างโดยมีสามเณรสรณังกรเป็นหัวหน้าคณะ
 
 
ในปี พ.ศ.2294 สามเณรสรณังกรทูลขอให้ พระเจ้ากิรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ส่งทูตมานิมนต์พระสงฆ์จากเมืองไทยไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา สมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงส่งพระสมณทูตไทยไปจำนวน 10 รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า ทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึง 3,000 คน ณ เมืองแคนดี สามเณรสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทในครั้งนี้ ได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดนิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ขึ้น ต่อมาพระอุบาลีเถระเกิดอาพาธและได้มรณภาพในลังกานั่นเอง 

 
ในสมัยเดียวกันนี้ มีสามเณรลังกาคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งนิกายอมรปุรนิกายขึ้น อีกคณะหนึ่งเดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์มอญแล้วกลับมาตั้งนิกายรามัญนิกาย ขึ้น ในสมัยนั้นจึงมีนิกายเกิดขึ้น 3 นิกาย คือ นิกายสยามวงศ์ นิกายอมรปุรนิกาย และนิกายรามัญ ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

 
ในปี พ.ศ.2345 อังกฤษเข้าครองอำนาจแทนฮอลันดา ได้ทำสนธิสัญญากับกษัตริย์ลังกาเพื่อรับประกันสิทธิของฝ่ายลังกาและเพื่อ คุ้มครองพระศาสนา ครั้นต่อมาเกิดกบฏขึ้นเมื่ออังกฤษปราบกบฏได้สำเร็จจึงดัดแปลงสนธิสัญญาเสีย ใหม่  ทำให้ระบบกษัตริย์ลังกาสูญสิ้นตั้งแต่บัดนั้น 


ในช่วงแรกของการปกครองโดยรัฐบาลอังกฤษ พระพุทธศาสนาได้รับความเป็นอิสระมากขึ้น ด้วยสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ภายหลังถูกกีดกันและต่อต้านจากศาสนาคริสต์อีก รัฐบาลถูกบีบให้ยกเลิกสัญญาที่คุ้มครองพระพุทธศาสนา องค์การคริสต์เตียนผูกขาดการศึกษาทั่วประเทศ โรงเรียนชาวพุทธเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวคือ ทีทโดดันดุวา นอกจากนี้บาทหลวงยังโจมตีคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้  จนกระทั่งท่านคุณานันทเถระได้ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.2366 ต่อมาได้ออกบวชและศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ท่านได้อาสาเป็นทนายแก้ต่างให้พระศาสนา ด้วยการโต้วาทะกับนักบวชที่มาจาบ จ้วงศาสนาพุทธจนได้รับชัยชนะ ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองอีกครั้ง
 
 
การโต้วาทะจัดขึ้น 5 ครั้งด้วยกันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2408 - เดือนสิงหาคม พ.ศ.2416  ศาสนิกอื่นที่มาร่วมฟังหรือได้อ่านบทโต้วาทะจากหนังสือพิมพ์ในแต่ละครั้ง นั้น หลายคนเสื่อมศรัทธาจากศาสนาเดิมของตนแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา หนึ่งในนั้นคือ เฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ (Henry Steele Olcott) เขาและมาดามเอช.พี.บลาวัตสกี ตัดสินใจเดินทางมาศรีลังกาในปี พ.ศ.2423 พอเหยียบแผ่นดินศรีลังกาที่ท่าเมืองกัลเล ทั้งสองได้ประกอบพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะทันที ณ วัดวิชัยนันทะ จากนั้นได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง  จัดตั้งโรงเรียนชาวพุทธขึ้น 400 โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อแข่งขันกับโรงเรียนคริสเตียน
 
 
นอกจากนี้ยังมีชาวตะวันตกอีกหลายท่านมาศึกษาและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในลังกา เช่น เอฟ.แอล.วูดวาร์ด (F.L.Woodward) บุตรของนักบวชนิกายโปรเตสแตนต์แห่งซาแฮมประเทศอังกฤษ เดินทางมาถึงศรีลังกาในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2446 ได้ช่วยสอนหนังสือที่วิทยาลัยพระพุทธศาสนามหินทะ 

 
ขณะนั้นวิทยาลัยมหินทะมีนักเรียนอยู่ 60 คน ศึกษากันอยู่ในอาคารเรียนเก่าๆ ของชาวฮอลันดา เอฟ.แอล.วูดวาร์ด บริจาคเงินกว่า 2,000 ปอนด์ เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนใหม่  เขาออกแบบอาคารเรียนเอง ควบคุมการก่อสร้างเอง และด้วยความทุ่มเทในการทำงานต่อมาไม่นานนักเรียนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน วูดวาร์ดสอนนักเรียนวันละหลายๆ ชั้น รู้จักชื่อศิษย์ทุกคนทั้งชื่อจริงและชื่อเล่น นิสัยส่วนตัวของเขาเป็นคนเคร่งครัดในวินัยมาก เขาจึงปั้นศิษย์ด้วยวินัย เป็นเหตุให้วิทยาลัยเติบโตรวดเร็วมาก เขาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ 16 ปีโดยไม่รับเงินเดือน วูดวาร์ดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก จะถืออุโบสถศีลและสวมชุดขาวในวันพระจันทร์เพ็ญ จะนิมนต์พระมารับภัตตาหารที่วิทยาลัยปีละหลายๆ ครั้ง โดยเขาจะทำหน้าที่ล้างเท้าพระสงฆ์ทีละรูปด้วยกิริยานอบน้อมอย่างยิ่ง


ด้วยการช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังของพุทธศาสนิกชน เหล่านี้ จึงทำให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง และที่สำคัญปัจจุบันศรีลังกาเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น