วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 12 พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก




         
ประเทศในเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ไต้หวัน มองโกเลีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเป็นนิกายมหายาน โดยเริ่มต้นเผยแผ่จากอินเดียสู่จีน จากจีนสู่เกาหลีและจากเกาหลีสู่ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนประเทศทิเบตนั้นบางตำรากล่าวว่า ได้รับพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งจะได้ขยายความในรายละเอียดดังต่อไปนี้ 



1.
ประเทศจีน

  
         
สาธารณรัฐประชาชนจีน (Peoples Republic of China ) มีเมืองหลวงชื่อปักกิ่ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ เซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ มีประชากรมากที่สุดในโลก  คือ ประมาณ 1,315,844,000 คน (พ.ศ.2548) จำนวนพุทธศาสนิกชนในจีนนั้นยากที่จะประเมินว่ามีอยู่เท่าไร จากข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่ามีอยู่ประมาณ 280-350 ล้านคน ในขณะที่เว็บไซต์ http://www.adherents.com/ ระบุว่ามี 102 ล้านคน อย่างไรก็ตามจีนก็เป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมากที่สุดในโลก จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 4,000 ปี มีราชวงศ์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันปกครองสืบต่อกันมาหลายราชวงศ์ เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว จิ๋น ฮั่น จิ้น เหลียง ซุย ถัง สมัย 5 ราชวงศ์ ได้แก่ ซ้อง เหลียว หยวน หมิง และราชวงศ์ชิง นอกจากนี้ยังมีราชวงศ์ย่อยๆ อีกมากในที่นี้จะกล่าวเฉพาะราชวงศ์ที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น  



        
พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนประมาณพุทธศักราช 608 ในสมัยของพระเจ้าฮั่นมิ่งตี่แห่งราชวงศ์ฮั่น ตำนานกล่าวว่าคืนหนึ่งพระจักรพรรดิทรงพระสุบินไปว่ามีบุรุษทองคำเหาะไปทาง ทิศตะวันตก พระองค์จึงสอบถามขุนนางว่า ฝันเช่นนี้มีความหมายว่าอย่างไร ขุนนางผู้หนึ่งตอบว่าทางทิศตะวันตกมียอดคน (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ถือกำเนิดขึ้น เมื่อได้ยินเช่นนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้ขุนนาง 18 คน ออกเดินทางเพื่อเสาะหายอดคนผู้นั้น ในที่สุดก็เดินทางมาถึงเมืองโขตาน ได้พบพระภิกษุ 2 รูป คือ พระกาศยปะมาตังคะกับพระธรรมรักษ์ ขุนนางจีนจึงนิมนต์พระทั้งสองรูปนี้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศจีน

 
        
เมื่อพระเถระทั้งสองรับนิมนต์แล้ว จึงใช้ม้าขาวบรรทุกพระคัมภีร์และพระพุทธรูปไปยังเมืองโลยางนครหลวงของจีนใน ขณะนั้น พระเจ้าฮั่นมิ่งตี่ทรงพอพระทัยอย่างมากและรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นที่ด้านนอก ของประตูเมืองหย่งเหมิน โดยให้ชื่อว่า วัดแปะเบ้ยี่ แปลว่า วัดม้าขาว เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าที่บรรทุกพระคัมภีร์พระพุทธศาสนามา ถือว่าวัดม้าขาวเป็นปฐมสังฆาราม ในประเทศจีน และพระเจ้าฮั่นมิ่งตี่เป็นปฐมกษัตริย์จีนที่นับถือพระพุทธศาสนา การอุปสมบทเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.793 โดยพระภิกษุอินเดียชื่อ พระธรรมกาละ เดินทางไปจีนเหนือถึงเมืองโลยาง ทำพิธีผูกพัทธสีมาขึ้นและให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรจีน  


         
ในยุคราชวงศ์จิ้น พวกมองโกลได้แผ่อิทธิพลมาทางภาคเหนือของจีน เข้ายึดลุ่มแม่น้ำเหลืองไว้หมด  ทำให้จีนแบ่งเป็นภาคเหนือและใต้ เรียกว่า ยุคน่ำปัก (พุทธศตวรรษที่ 8 - 11) ภาคเหนือเป็นมองโกล ส่วนภาคใต้เป็นจีนแท้  มีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นพรมแดน ในยุคน่ำปักนี้สมณะเสิงเจียนนำคัมภีร์มหาสังฆิกะ-ภิกษุณีกรรมันและภิกษุณีปา ฏิโมกข์ มายังเมืองโลยางและได้อุปสมบทภิกษุณีรูปแรกขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.900 - 904 คือ ภิกษุณีจิงเจียน ณ ภิกษุณีอารามจูหลิน เมืองโลยาง  


         
ในสมัยพระเจ้างุ่ยบูเต้แห่งจีนเหนือทรงหลงเชื่อลัทธิเต๋าว่า จะทำยาอายุวัฒนะให้เสวยแล้วจะมีพระชนม์ 10,000 ปี แต่นักบวชเต๋าขอให้พระองค์ทำลายพระพุทธศาสนาเสีย พระเจ้างุ่ยบูเต้จึงตรัสสั่งทำลายวัดและประหารพระสงฆ์ ในครั้งนั้นพระราชโอรสซึ่งเป็นพุทธมามกะได้ส่งสายลับไปเตือนพระสงฆ์ให้หนีไป ก่อน พระภิกษุส่วนใหญ่จึงรอดตาย แต่วัดถูกทำลายไป 30,000 กว่าวัด 


         
หลังจากการสรรคตของพระเจ้างุ่ยบูเต้ พระราชนัดดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อไป กษัตริย์พระองค์นี้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.929 - พ.ศ.1077 ทรงสร้างถ้ำตุนหวงขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระกัมมัฏฐาน ยุคต่อมามีการสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายร้อยปี จนกลายเป็นสถานที่มหัศจรรย์ มีถ้ำน้อยใหญ่กว่า 400 ถ้ำ ถ้ำทั้งหมดขุดด้วยแรงงานคน ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวพุทธในอดีตหาวิธีป้องกันไม่ให้พระสัทธรรม อันตรธาน จึงจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นผาภายในถ้ำต่างๆ แล้วปิดประตูถ้ำด้วยก้อนศิลา โดยหวังให้คนยุคหลังได้ศึกษา ปัจจุบันถ้ำนี้ตั้งอยู่กลางทะเลทรายโกบี เมืองตุนหวง มณฑลกานสู 


         
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนถึงสมัยพระเจ้าเหลียงบูเต้ ทรงครองราชย์ พ.ศ.1022 ณ เมืองนานกิง ภาคใต้ของจีน พระองค์ได้รับฉายาว่าเป็นอโศกแห่งแผ่นดินจีนยุคสมัยของพระองค์มีนักบวชจำนวน มาก เฉพาะเมืองโลยาง มีภิกษุและภิกษุณีถึง 2,000,000 รูป พระต่างชาติอีก 3,000 รูป พระเจ้าเหลียงบูเต้ทรงถือมังสวิรัติ ทรงออกกฎหมายห้ามฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ  พระภิกษุจึงหันมาฉันเจหรือมังสวิรัติตามพระราชาจนเป็นประเพณีมาถึงปัจจุบัน  พระองค์ทรงศึกษาธรรมะและแสดงธรรมด้วยพระองค์เองอยู่เนืองๆ ทรงอุทิศพระองค์เป็นอุปัฎฐากพระถึง 3 ครั้ง ญาติวงศ์และข้าราชการต้องใช้เงินถึง 1 โกฏิ เพื่อไถ่พระองค์ออกมา 


         
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ หรือพระโพธิธรรม (Bodhidharma) ชาวอินเดียใต้ เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเหลียงบูเต้ ท่านเดินทางไปที่จีนภาคเหนือในปี พ.ศ.1069 สร้าง     วัดเสี่ยวลิ่มยี่ หรือวัดเส้าหลินขึ้นบนภูเขาซงซัว มณฑลเหอหนัน จากนั้นก่อตั้งนิกายฉานขึ้น ฉาน หมายถึง ฌาน ในภาษาบาลี หรือ ธยาน ในภาษาสันสกฤต หรือ เซน ในภาษาญี่ปุ่น ตำนานเล่าว่า ขณะอยู่วัดเส้าหลิน ปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ 9 ปีไม่ลุกขึ้น

 
         
นิกายเซนเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌานที่ เรียกว่า ซาเซน โดยไม่อาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ จึงมีคำขวัญประจำนิกายว่า "ปุกลิบบุ้นยี่ ติกจี้นั้งซิม เกียงแส่ เซ่งฮุด" แปลว่า ไม่ต้องอาศัยหนังสือแต่ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงแล้วบรรลุเป็นพุทธะ ต่อมานิกายเซนได้ขยายไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม   และปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในตะวันตก

 
         
ปรมาจารย์ตั๊กม้อยังเป็นผู้ให้กำเนิดวิชากังฟูวัดเส้าหลินซึ่งโด่ง ดังไปทั่วโลกอีกด้วย ในตอนนั้นท่านเห็นว่า พระมีสุขภาพอ่อนแอ ไม่สามารถเจริญกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด จึงหาวิธีให้พระภิกษุฝึกฝนร่างกาย ควบคู่กับปฏิบัติธรรม   เริ่มแรกกังฟูจึงไม่ได้ฝึกเพื่อการต่อสู้แต่เป็นหน ทางเข้าสู่แก่นธรรมะ ภายหลังถูกดัดแปลงเป็นวรยุทธสำหรับการสู้รบ ในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1450) การฝึกวิทยายุทธของวัดเส้าหลินได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักอย่างเต็มที่ถึง ขนาดมีกองทัพพระ ยามศึกสงครามจะให้พระภิกษุลาสิกขาไปป้องกันประเทศ พอเสร็จศึกจึงกลับมาบวชใหม่  

 
         
มหันตภัยคุกคามพระพุทธศาสนา ในช่วง พ.ศ.1117 - 1120 มหันตภัยใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในแคว้นจิว คือ มีการยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า บังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา 2,000,000 รูป ยึดวัดและหลอมพระพุทธรูปเพื่อเอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์ ในยุคพระเจ้าเฮียนตง ห้ามมีการสร้างวัด หล่อพระพุทธรูปและพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ที่จะบวชต้องสวดพระสูตรได้ 1,000 หน้า หรือเสีย   ค่าบวชให้หลวง 100,000 อีแปะ  


         
ต่อมาปี พ.ศ.1388 รัชสมัยจักรพรรดิบู่จง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋า เป็นเสนาบดี มีการโต้วาทีกันระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ฝ่ายพระภิกษุได้รับชัยชนะ พระเจ้าบู่จงไม่พอพระทัย ทรงสั่งทำลายวัดกว่า 4,600 วัด ทำลายเจดีย์และวิหารกว่า 40,000 แห่ง บังคับให้ภิกษุและภิกษุณีสึกมากกว่า 260,000 รูป สมัยพระเจ้าซีจงทรงบังคับให้ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า บางยุคหน่วยงานราชการขายบัตรอุปสมบท คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินก็ไม่ได้บวช พระภิกษุต้องเสียภาษี  ยกเว้นผู้พิการหรือมีอายุ 60 ปี เช่น รัชกาลพระเจ้ายินจงในปี พ.ศ.1578 


         
ราชวงศ์ถังยุคทองของพุทธจักร  หลังจากที่พระพุทธศาสนาในแคว้นจิวถูกทำลายไป  ต่อมาได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์ซุย (พ.ศ.1132 - 1161) และได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 - 1450) โดยเฉพาะยุคถังไท่จงฮ่องเต้ สมัยนี้มีความเจริญทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร  มีการสร้างวัดขึ้นหลายแห่ง มีการแปลพระสูตรจากภาษาบาลีเป็นภาษาจีนมากมายและที่สำคัญมีนักปราชญ์คนสำคัญ เกิดขึ้นคือ พระถังซัมจั๋ง และ สมณะอี้จิง

 
         
พระถังซัมจั๋ง เป็นนักปราชญ์ชาวพุทธคนสำคัญ คำว่า ถังซัมจั๋ง แปลว่า ผู้ทรงพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง ท่านถือกำเนิดในตระกูลเฉิน ในปี พ.ศ.1143 ณ เมืองโลยาง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนัน มีนามเดิมว่า เฉินฮุย เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุได้ 13 ปี มีฉายาว่า ฮวนฉาง หรือหยวนฉ่าง หรือเฮี่ยนจัง เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน  แต่เมื่อศึกษาไปมากเข้าท่านเกิดความสงสัยและขัดแย้งในใจ คัมภีร์ประกอบการค้นคว้าก็มีน้อย  ท่านจึงมีความคิดที่จะไปศึกษาให้ถึงต้นแหล่งคือ ประเทศอินเดีย

 
         
ในปี พ.ศ.1173 ท่านจึงตัดสินใจออกเดินทาง เส้นทางไปนั้นอันตรายมาก ต้องผ่านทะเลทรายร้อนระอุและเทือกเขาอันหนาวเหน็บ ก่อนหน้านั้นมีภิกษุนับร้อยๆ รูปเดินทางไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่สิ้นชีวิตในระหว่างทาง กวีจีนจึงเขียนโคลงไว้ว่า "ขื่อเจี่ยเซ่งแปะ กุยบ่อจั๊บ เอ๋าเจี่ย อังใจ จุ้ยเจี่ยลั้ง" แปลว่า ในยามไปสิ มีจำนวนนับร้อย ครั้นยามกลับเล่าก็เหลือไม่ถึงสิบ บุคคลผู้อยู่ภายหลังไฉนเลยจะทราบถึงความยากลำบากของผู้ที่ไปก่อน

 
         
ก่อนเดินทาง มีผู้หวังดีเตือนถึงอันตรายดังกล่าว แต่พระถังซัมจั๋งยืนยันว่า อาตมาตั้งใจจะไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธ์และศึกษาธรรม อาตมาจะไม่เสียใจเลยหากต้องตายระหว่างเดินทาง ในที่สุดท่านจึงออกเดินทาง เส้นทางที่ใช้ต้องผ่านทะเลทรายตะกลามากัน  (Taklamakan) ซึ่งแปลว่า เข้าได้แต่ออกไม่ได้ เป็นหนึ่งในทะเลทรายที่อันตรายที่สุดในโลก    ชาวจีนเรียกว่า ทะเลทรายมรณะ กระบอกน้ำของท่านตกลงบนพื้นระหว่างเดินทาง น้ำที่มีอยู่ก็ไหลออกจมหายไปในผืนทรายจนหมดสิ้น ท่านต้องอดน้ำอยู่ 4 วันครึ่งกว่าจะเจอแหล่งน้ำ

 
         
หลังจากเดินทางมาได้ 1 ปีก็ถึงอินเดีย และพักอยู่ 19 ปี ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่ 5 ปี โดยเป็นศิษย์ของอธิการบดีศีลภัทร หลังจากศึกษาพระไตรปิฎก จนแตกฉานแล้ว จึงเดินทางกลับประเทศจีนโดยนำคัมภีร์กลับไปกว่าพันเล่ม เมื่อพระเจ้าถังไถ่จงมหาราชทรงทราบว่าท่านมาถึงพรมแดนจีนแล้ว ทรงปีติโสมนัสมาก ให้จัดขบวนเกียรติยศไปรับในฐานะเป็นบุรุษอาชาไนยของชาติ ในวันที่เข้าสู่นครเชียงอาน ทรงรับสั่งให้ราษฎรทุกบ้านที่ขบวนผ่านตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน  


         
พระถังซัมจั๋งทุ่มเทแปลคัมภีร์ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันอัญเชิญมาออกสู่ภาษา จีน แปลทั้งหมด 74 คัมภีร์ นับเป็นจำนวนลานได้พันกว่าผูก  ในปี พ.ศ.1183 ท่านยังเขียนบันทึกการ เดินทางตามหาพระไตรปิฎกไว้ด้วย โดยให้ชื่อว่า "ต้าถังซียู่จี้" หมายถึง จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง  บันทึกนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักการศึกษา ในยุคหลัง สำหรับใช้เป็นคู่มือในการสำรวจวัดโบราณในอินเดีย เพราะเป็นบันทึกที่แม่นยำมากจนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางที่ไม่เคยพลาดเลยใน อินเดีย เมื่อท่านอายุได้ 64 ปีเกิดอาพาธและมรณภาพลงท่ามกลางความเศร้าเสียใจของชาวจีนทั้งชาติ พระเจ้าถังเกาจงทรงให้ข้าราชการทั้งประเทศหยุดงาน 3 วัน เพื่อไว้ทุกข์ ในวันฝังศพมีคนมาร่วมพิธี 2,000,000 คน

 
         
พระไตรปิฎกฉบับแรกของโลก เมื่อราชวงศ์ซ้องได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าไทโจ้วอ่องเต้ในปี พ.ศ.1503 พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยการพิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมอรรถกถาและฎีกา เป็นฉบับแรกของโลก เนื่องจากจีนเป็นชาติแรกที่พิมพ์หนังสือได้    ชาวยุโรปได้รับรู้เรื่องกระดาษและการพิมพ์หลังจากจีนเกือบ 400 ปี พระไตรปิฎกฉบับนี้จัดพิมพ์ลงบนแผ่นไม้ทั้งหมด 130,000 แผ่น หอสมุดแห่งชาติประเทศไทยได้จัดเก็บตัวอย่างจำลองของพระไตรปิฎกฉบับนี้ไว้ ด้วย หลังจากราชวงศ์ซ้องแล้ว พระพุทธศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงอีก ลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลสูงกว่า เนื่องจากยุคหลังพระสงฆ์ไม่ค่อยศึกษาหาความรู้จึงไม่มีความองอาจในการเทศน์ สอน ปัญญาชนจึงหันไปนับถือขงจื้อที่ส่งเสริมการศึกษา

 
         
กบฏไท้เผง ในสมัยราชวงศ์ชิงหรือแมนจู (พ.ศ.2187-2455) เริ่มมีนักล่าอาณานิคมตะวันตกเข้ามาและนำคริสต์ศาสนามาเผยแผ่ด้วย มีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ ซิวฉวน เข้ารีตนับถือคริสต์ หาพรรคพวกได้มากจึงตั้งกลุ่มกบฏขึ้นชื่อ ไท้เผง แปลว่า มหาสันติ พวกกบฏโฆษณาว่า พระยะโฮวาสั่งให้ทำลายพระพุทธศาสนา ลัทธิขงจื้อ เต๋า และราชวงศ์แมนจู   ให้หมด สร้างโลกคริสเตียนใหม่ในเมืองจีน กบฏไท้เผง ใช้เวลารบ 16 ปี ยึดจีนได้ 1 ใน 3 ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่นานกิง บังคับให้ประชาชนเข้ารีต แล้วทำลายวัดและศาลเจ้า ฆ่าคน 20 ล้านคน วัดในเขตของกบฏจำนวนพันๆ ร้างโดยไม่มีทางบูรณะใหม่ขึ้นเลย

 
         
สมัยสาธารณรัฐ ดร.ซุน ยัดเซ็น ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐในปี พ.ศ.2454 เนื่องจากไม่พอใจการปกครองของกษัตริย์ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ตนมากกว่าประเทศ ชาติ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุคสาธารณรัฐนั้นค่อนข้างตกต่ำ  ศาสนาพุทธเป็นเหมือนวัตถุโบราณที่ถูกลืม ปัญญาชนรุ่นใหม่หันไปนับถือคริสต์ศาสนาซึ่งมาควบคู่กับระบอบการปกครองใหม่ อันเป็นสิ่งทันสมัยสำหรับชาวจีน แต่ยุคนี้ก็ยังมีพระภิกษุและภิกษุณีอยู่มากพอสมควรคือ 738,000 รูป มีวัดประมาณ 267,000 วัด

 
         
ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ยุคสาธารณรัฐอยู่ได้เพียง 38 ปีเท่านั้น ประเทศจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้งใน พ.ศ.2492 เหมาเจ๋อตุงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยต่อเจียงไคเช็กผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง ในสงครามกลางเมือง เจียงไคเช็กจึงหนีไปอยู่เกาะไต้หวันพร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง  เหมาเจ๋อตุงปกครองด้วยลัทธิมาร์กซิส ซึ่งขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา โดยถือว่า พระเป็นกาฝากสังคม มีการบีบคั้นให้พระลาสิกขา ผู้ไม่สึกก็ให้ทำนาและปลูกชา วัดเกือบทุกแห่งถูกสั่งปิด พระภิกษุหลายรูปหลบหนีไปเกาะไต้หวันและปักหลักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นั่น จนปัจจุบันไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งที่พระพุทธศาสนาแข็งแกร่งมีชื่อเสียงระดับ โลก เช่น วัดฝอกวงซัน ซึ่งมีท่านซิงหวินต้าซือเป็นผู้นำ วัดนี้ได้ขยายสาขาออกไปกว่า 250 ประเทศทั่วโลก

 
         
หลังจากเหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.2519 เติ้งเสี่ยวผิงเข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้นำรัฐบาลแทน  ยุคนี้ได้ผ่อนความเข้มงวดลง ทำให้พระพุทธศาสนาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2546 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่ามีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ 21 องค์ ที่วัดหวาหลิน เขตลี่วาน นครกวางโจว สื่อจีนระบุว่า พระบรมสารีริกธาตุมักปรากฏ เมื่อบ้านเมืองมีสันติสุขและสูญหายเมื่อบ้านเมืองเดือดร้อน นับตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเป็นต้นมาพระพุทธศาสนาในจีนจึงค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมากที่สุดในโลก

 
         
นิกายในประเทศจีน จีนเป็นต้นแหล่งของพระพุทธศาสนามหายานหลายนิกายซึ่งต่อมาได้เผยแผ่ไปยัง ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยนิกายที่สำคัญๆมีดังนี้คือ นิกายสัทธรรมปุณฑริกหรือเทียนไท้ นิกายสุขาวดี หรือเจ้งโท้วจง และนิกายธฺยาน หรือเซน เป็นต้น สำหรับนิกายเซนได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของพระโพธิธรรม ในที่นี้จะกล่าวถึงอีก 2 นิกายดังนี้
          1.
นิกายสัทธรรมปุณฑริก เป็นนิกายที่ยึดพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นแม่บท ซึ่งพระสูตรนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าแต่งขึ้นที่ไหน เมื่อใด และด้วยภาษาอะไร ตัวพระสูตรได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน 6 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.798 ฉบับที่ได้รับการยอมรับและนิยมศึกษากันมากที่สุดคือ ฉบับของพระกุมารชีวะซึ่งแปลในปี พ.ศ.949 สัทธรรมปุณฑริกสูตร มีชื่อเสียงเด่นขึ้นมาเมื่อพระตีเจี้ย (พ.ศ.1081 - 1140) แห่งภูเขาเทียนไท้ ได้รู้แจ้งสารัตถธรรมของสัทธรรมปุณฑริกสูตรแล้วก่อตั้งเป็นนิกายสัทธรรม ปุณฑริก (ฮวบฮั่วจง) ขึ้น  หรือเรียกว่า นิกายเทียนไท้ ตามชื่อสำนัก 


         
นิกายนี้สอนว่า ด้วยหลักแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตรเท่านั้นที่จะทำให้ทุกคนสามารถบรรลุพุทธภาวะ ได้อย่างเสมอภาคกัน พระสูตรนี้เป็นการเปิดเผยความลี้ลับสุดยอดแก่พระสาวกทั้งปวงก่อนที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน 


         
สัทธรรมปุณฑริกสูตร แปลเป็นภาษาจีนว่า เมียวโฮเร็งเงเคียว คำว่า เมียวโฮ คือ พระสัทธรรม คำว่า เร็งเง แปลว่า ดอกบัวขาว หรือ ปุณฑริก คำว่า เคียว แปลว่า สูตร ส่วนในภาษาอังกฤษ สัทธรรมปุณฑริกสูตร แทนด้วยคำว่า Lotus Sutra


         
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่จากจีนไปสู่เกาหลีและจากเกาหลีไปสู่ญี่ปุ่น นิกายสัทธรรมปุณฑริกสูตรก็ถูกนำไปเผยแผ่ด้วย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่นิกายนี้ในญี่ปุ่นคือ พระไซโจ แห่งสำนักสงฆ์บนภูเขาฮิเออิ และพระนิชิเร็น 


          2.
นิกายสุขาวดี นิกายสุขาวดีก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.945 สมัยราชวงศ์จิ้นโดยพระฮุยเอี้ยง  ท่านพำนักอยู่ที่วัดตังนิ่มยี่ บนภูเขาลู้ซัว มณฑลกังไส บนภูเขาขุดสระใหญ่ ปลูกดอกบัวขาวเต็มสระ ท่านฮุยเอี้ยงพร้อมสาวกหลายพันคนนั่งสวดมนต์หน้าสระนี้ โดยสมมติว่า สระน้ำแห่งนี้เป็นสระทิพย์ในแดนสุขาวดี ซึ่งท่านเหล่านั้นต่างตั้งจิตปรารถนาจะไปเกิด

 
         
เบื้องต้นสำนักนี้อาศัยข้อความในพระสูตร ชื่อ พุทธธฺยานสาครสูตร คือ เพ่งจิตถึงพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบคำสอนไปตามลำดับ นิกายนี้   ไม่มีหลักอภิปรัชญาที่ซับซ้อนให้ต้องคิดมาก เหมาะกับสามัญชนทั่วไป

 
         
พระชานเตา (Shan tao) สรุปหัวใจหลักของนิกายนี้ไว้ 3 ประการคือ
          1.
สิ่ง  แปลว่า  ความเชื่อ  ต้องปลูกศรัทธาอย่างซาบซึ้งในองค์พระอมิตาภะ
          2.
ง๋วง  แปลว่า  ตั้งปณิธานอธิษฐานเพื่อไปเกิดในแดนสุขาวดีอย่างแน่วแน่
          3.
เหง คือ ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกุศลธรรม โดยเฉพาะการเปล่งคำบูชาพระอมิตาภพุทธเจ้าว่า นโม อมิตาภาย พุทฺธาย ภาษาจีนว่า นัมบู ออนี ท่อฮุด ภาษาญี่ปุ่นว่า นัมบู อมิดา บุตสึ  ภาษาญวนว่า นามโบ อายีด้า เผิก โดยต้องท่องวันละหลายๆ หน ยิ่งมากยิ่งดี  ภาวนาด้วยการนับลูกประคำ ประคำเม็ดหนึ่งต่อภาวนาบทหนึ่ง

2.
ประเทศเกาหลี

 
         
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว  ในปี พ.ศ.2491 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ เกาหลีเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และเกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  เกาหลีเหนือ (North Korea) มีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democratic Peoples Republic of Korea : DPRK) มีเมืองหลวงชื่อ เปียงยาง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด เกาหลีเหนือมีประชากรประมาณ 23,113,019 คน (พ.ศ.2549) ส่วนใหญ่ไม่มี     ศาสนา เพราะระบอบคอมมิวนิสต์ไม่สนับสนุนศาสนา มีพุทธศาสนิกชนนิกายเซนอยู่เพียง 400,000 คน (1.67%) ลดลงจากเดิม 23.33% วัดมีอยู่ 300 วัด และมีคริสต์ศาสนิกชนประมาณ 12,000 คน (0.05%)


เกาหลีใต้ (South Korea) มีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) มีเมืองหลวงชื่อ โซล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด  เกาหลีใต้มีประชากรประมาณ 47,817,000 คน นับถือศาสนาพุทธมหายานประมาณ 25% นับถือศาสนาคริสต์ 25% นับถือศาสนาขงจื้ออีก 2% และมีกลุ่มที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอีก 30 - 52% (Nonbeliever in God) หรือประมาณ 14,579,400-25,270,960 คน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีภิกษุณีอยู่จำนวนมาก ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10,000 รูป พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อปี พ.ศ.915 โดยพระธรรมทูตซุนเตา ท่านนำนิกายมหายานจากจีนมาสู่อาณาจักรโกกุเรียวคือเกาหลีในปัจจุบัน 

 สมัยก่อนเกาหลีประกอบด้วย 3 อาณาจักรคือ โกกุเรียว ปึกเจ และซิลลา ซึ่งปกครองคาบสมุทรเกาหลีและบางส่วนของแมนจูเรีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษ ที่ 7 ผู้นำทั้ง 3 อาณาจักรยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาอาณาจักรซิลลาสามารถรวมแคว้นทั้งสามให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ในปี พ.ศ.1200 ทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคง  รัฐบาลให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก 1,600 หน้า  ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะ และจารึกพระคัมภีร์เป็นจำนวน 50,000 กว่าเล่ม ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองมาก
 
 
อาณาจักรซิลลาปกครองเกาหลีอยู่ได้ 278 ปี ก็พ่ายแพ้แก่อาณาจักรโกกุเรียวในปี พ.ศ.1478 ราชวงศ์นี้ก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะนิมนต์พระภิกษุหนึ่งรูปเป็นที่ปรึกษา ยุคนี้มีการสร้างวัดวาอารามจำนวนมาก และมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ครอบครัวเกาหลีที่มีลูกชาย 4 คน ต้องให้บวชเป็นพระ 1 คน  


 เนื่องจากพระเกาหลีบวชในนิกายมหายานเมื่อบวชแล้วก็จะมีกิจกรรมสงฆ์ ที่แตกต่างจากนิกายเถรวาท เช่น  ต้องทำนา ทำกิมจิ  เก็บผลไม้ เป็นต้น  การทำนานั้นจะทำเป็นกลุ่มใหญ่ ในปลายเดือนมิถุนายน โดยขณะดำนาพระภิกษุจะพับขากางเกงถอดเสื้อคลุมออกแล้วเข้าแถวดำนา มีพระสองรูปถือเชือกยาวเพื่อจัดแถวให้ตรง ส่วนการทำกิมจินั้นคือการทำผักดองจากกะหล่ำและหัวไชเท้าเพื่อเตรียมไว้ฉันใน ฤดูหนาว และยังมีการเก็บผลไม้ เช่น เกาลัด ผลต้นสน และลูกพลับสุก สำหรับฉันในฤดูหนาว

พระเกาหลีจะนิยมบำเพ็ญทุกรกิริยาคล้ายกับสมัยที่พระสิทธัต ถโพธิสัตว์ออกบวชใหม่ๆ  เช่น อดอาหาร ฉันอาหารดิบ ไม่เอนหลังนอน ไม่พูด เผานิ้วตัวเอง และมีการปลีกวิเวกไปอยู่ในหุบเขาโดยไม่ปลงผม หนวด และเครา

 
การห้ามภัตรหรือการอดอาหาร เป็นที่นิยมกันมากในเกาหลี ใช้เวลาประมาณ 3 วัน ถึง 2 อาทิตย์ เพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาโรคเรื้อรังได้ทุกชนิด ส่วนการเผานิ้วมือตัวเอง ทำเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางรูปก็ทำเพื่อความมั่นคงในการบวช บ้างก็ทำเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร แต่บางรูปทำเพื่อความมีชื่อเสียงต้องการให้ฆราวาสเคารพนับถือยิ่งขึ้น


ในปี พ.ศ.1935 - 2453 พระพุทธศาสนาในเกาหลีเข้าถึงยุคเสื่อม เนื่องจากราชวงศ์โซซอนขึ้นมามีอำนาจ และเชิดชูลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติ มีคำสั่งห้ามบวชพระ  พระสงฆ์จึงหนีออกไปอยู่อย่างสงบตามชนบทและป่าเขา 

 เกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2453 ญี่ปุ่นส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้ และสนับสนุนให้ดำรงชีวิตเหมือนฆราวาส ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นต้องการทำลายวัฒนธรรมของเกาหลีซึ่งถูกหล่อหลอมขึ้นจากคำ สอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา หากสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพระภิกษุได้ ก็จะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ด้วย
 
พระเกาหลีมีครอบครัว เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการมีครอบครัว พระสงฆ์เกาหลีจำนวนมากจึงเริ่มมีครอบครัวอย่างเงียบๆ เพราะช่วงแรกๆ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และก่อนหน้านี้เคยมีผู้นำเสนอขอให้พระมีครอบครัวมาก่อนแล้วแต่ไม่ได้รับการอ นุมัติ ในปี พ.ศ.2422 พระชาวเกาหลีชื่อ ฮันยองกัน ได้ยื่นฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกข้อห้ามภิกษุภิกษุณีมีครอบครัว โดยมีเหตุผลดังนี้
          1)
ถ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุมีครอบครัว ก็จะมีพระลาสิกขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าอนุญาต พระก็จะอยู่ในสมณเพศต่อไปได้ สามารถมีทายาทสืบพระพุทธศาสนาเพื่อแข่งขันกับศาสนาอื่นได้ และในปัจจุบันพระที่มีครอบครัวโดยไม่เปิดเผยก็มีอยู่แล้ว จึงก่อให้เกิดความละอายโดยไม่จำเป็น
          2)
พระฮันยองกันอ้างว่า หลักคำสอนในศาสนาพุทธถือว่า การถือเพศพรหมจรรย์ หรือไม่ถือพรหมจรรย์ไม่ได้แตกต่างกันเลย การไม่ถือพรหมจรรย์นั้นจะทำให้พระภิกษุมีประสบการณ์ชีวิตในทางโลกเพิ่มขึ้น

 
ข้อเสนอนี้รัฐบาลไม่ได้อนุมัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระแสต่อต้านมีมากกว่า แต่ในที่สุดเดือนตุลาคม พ.ศ.2469 สภาสงฆ์แห่งเกาหลีภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบให้พระเกาหลีมีครอบ ครัวได้ ผลการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความแตกแยกระหว่างพระภิกษุ ที่ถือพรหมจรรย์กับพระภิกษุที่มีครอบครัว

 
อย่างไรก็ตามพระที่มีครอบครัวต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต อย่างมาก เนื่องจากต้องมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ต้องทำงานแบบฆราวาส จึงไม่มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัย ไม่มีเวลาฝึกสมาธิ และเผยแผ่คำสอนพระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดอันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นคือ ไม่มีเวลาปลุกระดมมวลชนต่อต้านญี่ปุ่น จึงทำให้ปกครองง่าย

 
ในปี พ.ศ.2488 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเข้ายึดเกาหลีจากญี่ปุ่น และแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน คือ เกาหลีเหนือ(North Korea) และเกาหลีใต้ (South Korea)


เมื่อเกาหลีพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์ในเกาหลีใต้ได้เคลื่อนไหว มีการประชุมใหญ่แล้วลงมติให้รัฐบาลยกเลิกข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดแย้งกับหลักพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งให้คณะสงฆ์ปกครองตนเอง โดยมีสำนักงานอยู่ในนครหลวงและจังหวัดต่างๆ มีการประชุมเพื่อตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ขึ้นในปีพ.ศ.2489 ส่วนเกาหลีเหนือนั้นปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ จึงไม่มีความเคลื่อนไหวทางศาสนามากนัก
 

 ผลจากการเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกกฎต่างๆ เช่น การอนุญาตให้พระมีครอบครัว เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างพระที่ประพฤติพรหมจรรย์กับพระที่ มีครอบครัว ในที่สุดในปี พ.ศ.2505 คณะสงฆ์เกาหลีจึงแตกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายโชกาย และนิกายแตโก  ซึ่งนิกายโชกายคือพระที่ถือพรหมจรรย์ ส่วนนิกายแตโกคือพระที่มีครอบครัว นิกายโชกายนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและศาลสูงตัดสินให้มีสิทธิปกครอง ทุกวัดในประเทศรวมทั้งนิกายแตโกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถยังข้อขัดแย้งให้สงบลงได้
        


ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเกาหลีเป็นนิกายเซนผสมกับความเชื่อในพระอมิ ตาภพุทธเจ้าและพระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระสงฆ์มีความคิดก้าวหน้าทันเหตุการณ์ ตื่นตัวที่จะปรับปรุงตนให้ทันโลกอยู่เสมอ การพัฒนาพระสงฆ์เน้นไปที่การศึกษาซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาล ชาวเกาหลีมีสถิติอ่านออกเขียนได้ถึง 95% ข้อมูลในปี พ.ศ.2526 ระบุว่ามีพุทธศาสนิกชนอยู่ 11,130,288 คน ฝ่ายหญิง 7,160,704 คน ฝ่ายชาย 3,969,584 คน  มีวัดที่ลงทะเบียน 3,163 วัด และไม่ลงทะเบียนอีก 4,090 วัด มีพระภิกษุจำนวน 14,206 รูป และภิกษุณี 6,549 รูป ส่วนมากเป็นนิกายโชกาย คือนักบวชที่ประพฤติพรหมจรรย์ 

เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอันเก่าแก่คือ ดงกุก สร้างในปี พ.ศ.2449 ประกอบด้วยวิทยาลัย 9 แห่ง และบัณฑิตวิทยาลัย 4 แห่ง มีนักศึกษาชายหญิงประมาณ 15,000 คน มีหลักสูตรอบรมพิเศษสำหรับภิกษุและภิกษุณี มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีโครงการแปลและ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลีในปี พ.ศ.2507 โดยการนำของคณะสงฆ์ มีคณะกรรมการแปล 65 คน ออกตีพิมพ์เดือนละ 1 เล่ม จนกว่าจะครบ 240 เล่ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ 45 ปี  นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับภิกษุ ภิกษุณี สามเณรและสามเณรีด้วย โดยเปิดโอกาสให้ฆราวาสเข้าเรียนร่วมกับนักบวชได้ 


         
คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆ ด้วย เปิดรับนักเรียนชายหญิงทั่วไป มีคฤหัสถ์เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยแบ่งประเภทของสถาบันได้ดังนี้
         
มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย          3         แห่ง
         
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย   11        แห่ง
         
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น       16        แห่ง
         
โรงเรียนประถมศึกษา                 3         แห่ง
         
โรงเรียนอนุบาล                         7         แห่ง
         
 


สำหรับภิกษุณีในเกาหลีใต้นั้น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถปฏิบัติศาสนกิจเคียงบ่า   เคียงไหล่กับพระภิกษุได้เป็นอย่างดี ผู้หญิงเกาหลีนิยมบวชเป็นภิกษุณีตั้งแต่อายุ 20 - 40 ปี โดยบวชเป็นสามเณรีถือศีล 10 อยู่ 2 ปี แล้วเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตร 3-5 ปี จากนั้นจึงบวชเป็นภิกษุณี ถือศีล 368 ข้อ การปกครองภิกษุณีนั้นขึ้นต่อองค์การการปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด จึงทำให้สงฆ์สองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแต่ละวัดจะมีภิกษุณีเป็นเจ้าอาวาส

3.
ประเทศญี่ปุ่น

 
       
ประเทศญี่ปุ่น (Japan) มีเมืองหลวงชื่อ โตเกียว และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด ประชากรญี่ปุ่นมีประมาณ 128,085,000 คน (พ.ศ.2548) พุทธศาสนิกชนมีประมาณ 89,650,000 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 6 ยุค คือ ยุคแรก ยุคนารา ยุคโชกุนตระกูลแรก ยุคสงครามกลางเมือง ยุคปิดประเทศ และยุคเมจิถึงปัจจุบัน 


        
ยุคแรก พระพุทธศาสนาจากจีนเผยแผ่เข้าสู่ญี่ปุ่นโดยผ่านเกาหลีในปี พ.ศ.1095 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้ากิมเมจิ ในครั้งนั้นพระเจ้าเซมาโวกษัตริย์แคว้นกทุระแห่งเกาหลีทรงส่งพระพุทธรูปทอง เหลืองหุ้มทองคำ และพระคัมภีร์ไปถวายพระเจ้ากิมเมเจิพร้อมทั้งพระราชสาส์นมีใจความว่า นี่เป็นศาสนาที่ดีที่สุดที่หม่อมฉันเห็น หม่อมฉันไม่ต้องการให้ศาสนานี้จำกัดแพร่หลาย เฉพาะเพียงเกาหลีแห่งเดียว ขอให้พระองค์โปรดรับศาสนานี้ไว้ พระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงพอพระทัยเพราะไม่เคย ได้สดับคำสอนอันวิเศษเช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่นั้นชาวญี่ปุ่นจึงเริ่มนับถือพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะศาสนาเดิมคือชินโต ยังมีอิทธิพลอยู่มาก 


         
จนกระทั่งถึงสมัยที่จักรพรรดินีซูอิโกะ (Suiko) ครองราชย์ ประมาณปี พ.ศ.1135-1171 พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระนางทรงสละราชสมบัติออกผนวชเป็นภิกษุณี โดยมอบภาระให้พระราชนัดดาพระนามว่า อุมายาโดะ (Umayado) ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทน  เจ้าชายอุมายาโดะนี้ ต่อมาได้รับการขนานพระนามว่า โชโตกุ ไทชิ

 
         
เจ้าชายโชโตกุทรงยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทรงสร้างวัดประมาณ   400 วัด ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก ทรงนิพนธ์อรรกถาพระสูตรสำคัญของมหายาน 3 สูตร คือ  สัทธรรมปุณฑริกสูตร วิมลเกียรตินิเทศสูตร ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร ต้นฉบับลายพระหัตถ์ยังคงรักษาอยู่จนถึงปัจจุบัน ทรงบัญญัติกฎหมายแห่งรัฐโดยยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะผลงานทางพระพุทธศาสนาที่ทรงทำไว้มากมาย เจ้าชายโชโตกุจึงได้รับฉายาว่า เป็นพระเจ้าอโศกแห่งญี่ปุ่น

 
         
พระพุทธศาสนาที่เจ้าชายโชโตกุทรงศรัทธาชื่อว่า เอกยาน มีธรรมกายเป็นจุดหมายมีคำสอนประสานกันระหว่างมหายานและเถรวาท ไม่แบ่งแยกกันระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์  ทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องออกบวชหรือปลีกวิเวก เมื่อเจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.1165 พสกนิกรต่างเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เหล่าพุทธบริษัทจึงสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าพระวรกายพระองค์ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของพระองค์

 
         
ยุคนารา ตั้งแต่ยุคเจ้าชายโชโตกุเป็นต้นมา  พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ  กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นสืบมา  เมื่อถึงสมัยนารา (Nara) ประมาณปี พ.ศ.1253 - 1327 พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น นารา อันเป็นราชธานีของญี่ปุ่นยุคนั้นถึงกับได้ ชื่อว่า นครแห่งอารามหนึ่งพัน เพราะถนนทุกสายในเมืองนี้มีวัดพระพุทธศาสนา ยุคนั้นมีนักปราชญ์ญี่ปุ่นไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นและ ได้นำนิกายต่างๆ มาเผยแผ่ในญี่ปุ่น ซึ่งสมัยนั้นมี 6 นิกายด้วยกัน

 
         
ในปี พ.ศ.1284 พระเจ้าจักรพรรดิโชมุทรงประกาศจักรพรรดิราชโองการให้สร้างวัดของราชการประจำ จังหวัดทั่วประเทศ ยุคนี้ลาภสักการะเกิดขึ้นกับคณะสงฆ์มาก เพราะกษัตริย์  และพสกนิกรให้การอุปถัมภ์ จึงทำให้มีผู้เข้ามาบวชเพื่อหวังลาภสักการะจำนวนมาก อีกทั้งคณะสงฆ์ เข้าครอบงำราชการแผ่นดิน ทำให้ห่างเหินการปฏิบัติธรรม ศาสนาจึงเสื่อมลง พระจักรพรรดิ ต้องการจะลิดรอนอำนาจทางการเมืองของพระสงฆ์ จึงย้ายเมืองหลวงจากนาราไปเกียวโต (เฮอัน) พระพุทธศาสนา 6 นิกายนี้จึงไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักอีก เป็นเหตุให้เสื่อมลงในที่สุด

 
         
ในยุคเกียวโตหรือเฮอัน (พ.ศ.1337 - 1728) พระไซโจ และพระคูไค ซึ่งเดินทางไปศึกษายังประเทศจีนได้กลับมาเผยแผ่ที่ญี่ปุ่น ท่านไซโจตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่ภูเขาฮิเออิในปี พ.ศ.1328 เพื่อเผยแผ่นิกายเทนได หรือเทียนไท้ หรือนิกายสัทธรรมปุณฑริก พระสงฆ์สำนักนี้มีอาวุธไว้ป้องกันตัวในยามศึกสงครามด้วย ส่วนท่านคูไคได้กลับมาเผยแผ่นิกายชินงอน หรือ ตันตระ ยุคนี้ราชการให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างมากเช่นกัน พระจักรพรรดิเกือบทุกพระองค์เสด็จออกผนวช แต่ช่วงปลายยุคมีสงครามเกิดขึ้น  โดยขุนพลชื่อ โยริโมโต แห่งตระกูล มินาโมโต บุกโจมตีกรุงเกียวโตและนารา ยึดอำนาจการปกครองจากพระจักรพรรดิ และได้เผาวัดวาอารามไปจำนวนมาก ยุคนั้นพระสงฆ์บางวัดจึงมีกองทัพไว้ป้องกันวัด และมีพระบางพวกออกรบเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองด้วย แต่โยริโมโตก็สามารถปราบปรามได้อย่างราบคาบ 


         
ยุคโชกุนตระกูลแรก โชกุน หมายถึง ผู้บัญชาการกองกำลังทหารของประเทศ หากเปรียบกับตำแหน่งทางทหารในปัจจุบันแล้ว อาจเทียบได้กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ที่ได้รับตำแหน่งโชกุนคนแรกคือ โยริโมโต หลังจากที่โยริโมโตตีเมืองเฮอันและนาราได้แล้ว ในปี พ.ศ.1728 เขาสถาปนาเมืองกามากุระขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การปกครองระบบโชกุนหรือรัฐบาลทหาร และได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระจักรพรรดิในปี พ.ศ. 1735 ให้ดำรงตำแหน่ง เซอิไทโชกุน ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงเสื่อมโทรมเพราะไฟสงคราม แต่พุทธศาสนิกชนก็พยายามฟื้นฟูขึ้นใหม่จนกลับรุ่งเรืองอีก โดยครั้งนั้นมีนิกายที่สำคัญอยู่ 3 นิกายคือ นิกายโจโด นิกายเซน และนิกายนิจิเร็น
          1.
นิกายโจโด หรือสุขาวดี ท่านโฮเน็นได้ก่อตั้งนิกายนี้ขึ้นในยุคกามากุระ วันหนึ่งท่านได้อ่านอรรถกถาอมิตายุรธยานสูตรพบข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า หากบุคคลนึกถึงและออกพระนามพระอามิตาภพุทธเจ้า โดยมิต้องคำนึงถึงอากัปกิริยาและกาลเวลาแล้ว ถ้าปฏิบัติได้สม่ำเสมอก็ย่อมเรียกได้ว่า เป็นสัมมากัมมันตะ เพราะต้องด้วยปฏิญญาแห่งพระอมิตาภพุทธเจ้า  ท่านรู้สึกประทับใจข้อความนี้มากและได้เลิกข้อปฏิบัติอย่างอื่นหมด เปล่งแต่คำว่า นัมบู อมิดา บุตสึ อย่างเดียว โดยเชื่อว่าเพียงแค่นี้ก็สามารถไปเกิดยังแดนสุขาวดีซึ่งเป็นที่อยู่พระอมิตา ภพุทธเจ้าได้ จากนั้นท่านจึงออกเผยแผ่คำสอนและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะ หลักปฏิบัติไม่ยุ่งยากซับซ้อน
          2.
นิกายเซน ท่านโยไซ และท่านโดเกน ได้เดินทางไปศึกษาที่ภูเขาฮิเออิ จากนั้นก็เดินทางไปยังประเทศจีน ศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซนแล้วนำกลับมาเผยแผ่ที่ญี่ปุ่น ท่านโยไซสร้างวัดชื่อ โชฟูกูจิ ขึ้นในปี พ.ศ.1734 ที่เกาะกิวชิว เมืองกามากุระ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่นิกายรินไซเซน ส่วนท่านโดเกนสร้างวัดเออิเฮอิจิขึ้นเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ โซโตะเซน
         
จากที่กล่าวแล้วว่า นิกายเซนเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌานที่เรียกว่า ซาเซน โดยไม่อาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ  จึงมีคำขวัญประจำนิกายว่า ปุกลิบ-บุ้นยี่ ติกจี้นั้งซิม เกียงแส่ เซ่งฮุด แปลว่า ไม่ต้องอาศัยหนังสือแต่ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงแล้วบรรลุเป็นพุทธะ ความแตกต่างกันระหว่างรินไซเซน กับโซโตะเซน คือ รินไซเซน อาจารย์ผู้สอนจะใช้วิธีรุนแรงต่างๆ ปลุกลูกศิษย์ให้ตื่นเพื่อความรู้แจ้ง เช่น     ถ่ายทอดธรรมด้วยการตะโกนใส่ลูกศิษย์บ้าง ใช้ไม้เท้าตีขณะนั่งวิปัสสนาบ้าง ส่วนโซโตะเซนอาจารย์จะฝึกให้ลูกศิษย์มองความจริงจากแง่มุมต่างๆ ให้เห็นว่าแต่ละมุมล้วนมีเอกภาพเดียวกัน ไม่อาจแยกขาดจากกัน
          3.
นิกายนิชิเร็น เป็นนิกายที่ยึดพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นแม่บทโดยพระนิชิเร็นเป็นผู้ก่อ ตั้งขึ้น ท่านเกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1765 และอุปสมบทเมื่ออายุได้ 16 ปีหลังจากศึกษาพระธรรมมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ท่านได้ข้อสรุปว่า คำสอนของพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรนี้เท่านั้นถูกต้องแท้จริง 


         
จากนั้นจึงเริ่มเผยแผ่คำสอน หลักปฏิบัติของนิกายนี้ไม่ซับซ้อน เพียงแต่มีศรัทธามั่นคงแล้วกล่าวนมัสการว่า นะมุ เมียวโฮ เรงเง เคียว ซึ่งแปลว่า ขอนอบน้อมแด่สัทธรรมปุณฑริกสูตร โดยขณะกล่าวต้องตระหนักว่าตนเองมีพุทธภาวะอยู่ในตัว แล้วจะสามารถกำจัดสักกายทิฏฐิและบรรลุธรรมได้

 
         
นิชิเร็นเป็นคนหัวรุนแรง เผยแผ่คำสอนโดยวิธีโจมตีต่างนิกาย เขาด่าโฮเน็นผู้ก่อตั้ง  นิกายสุขาวดีว่าเป็นสัตว์นรก การกล่าว นัมบู อมิดา บุตสึ ของนิกายสุขาวดีก็เป็นทางไปสู่นรก อีกทั้งชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เขาเขียนเสนอโครงการปกครองประเทศให้รัฐบาล และพยากรณ์ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามเขาจะมีมหันตภัยมาสู่ประเทศ นิชิเร็นจึงมีคนเกลียดชังมาก   เขาถูกเนรเทศ 2 ครั้ง ถูกทำร้ายถึง 2 ครั้ง แต่ก็รอดตายมาได้ทุกคราว


 
         
ยุคสงครามกลางเมือง หลังจากที่โชกุนตระกูลแรกคือมินาโมโตปกครองประเทศมาได้ 28 ปี อำนาจจึงเริ่มเปลี่ยนมือ คือในปี พ.ศ.1756 อำนาจที่แท้จริงเปลี่ยนไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยริโมโต 


         
การฟื้นฟูอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิมีขึ้นในช่วงสั้นๆ คือตั้งแต่ปี พ.ศ.1876 - 1881 หลังจากนั้นรัฐบาลโชกุนหรือรัฐบาลทหารชุดใหม่ก็ได้สถาปนาขึ้นอีก  โดยตระกูลอาชิคางะ ที่มุโรมาจิ ในกรุงเกียวโต หลังจากปกครองประเทศมาได้ 200 กว่าปี ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างผู้นำทหารแต่ละตระกูล  ในครั้งนั้นมีนักรบผู้หนึ่งชื่อ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)  ฝึกให้ทหารของเขาใช้อาวุธปืนที่พ่อค้าโปรตุเกสนำมาขายในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 จึงทำให้กองทัพแข็งแกร่งและสามารถปราบหัวเมืองต่างๆ ลงได้  


         
ช่วงสงครามกลางเมืองนี้ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรงมาก พระภิกษุถึงกับต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเหล่าทหาร โดยมีสำนักสงฆ์นิกายเทนไดแห่งภูเขาฮิเออิเป็นศูนย์กลางของกองทัพ โอดะ โนบุนากะ สั่งการให้กองทหารกว่า 30,000 นาย เข้าโอบล้อมเทือกเขาฮิเออิแล้วตีโอบตะลุยขึ้นไปยังวัดซากาโมโตะ สั่งให้ฆ่าพระทุกรูปและชาวบ้านทุกคนบนเทือกเขาไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก ทารก ให้เผาวัดและบ้านเรือนทุกหลังจนวอดวาย จากนั้น ให้ทหารบุกเผาวัดอื่นๆ อีกประมาณ 3,000 วัดที่มีทีท่าว่าจะก่อการกบฏต่อเขา  



         
หลังจากปราบกองทัพพระสงฆ์ลงได้ราบคาบแล้ว โอดะ โนบุนากะสนับสนุนให้มิชชันนารีชาวโปรตุเกสนำศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิทมาเผย แผ่ จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แม้ตัวเขาเองก็เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาด้วย  โนบุนากะครองอำนาจอยู่ได้กว่า 48 ปี ก็ถูกอะเคจิ มิตสึฮิเดะ แม่ทัพคนสนิทสังหารในปี พ.ศ.2125 เนื่องจากแค้นใจที่ถูกโนบุนากะทำให้เขาได้รับความอับอายต่อหน้านายทหาร แต่อะเคจิ มิตสึฮิเดะก็ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกันจากโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ นายทหารคนสนิทอีกคนหนึ่งของโอดะ โนบุนากะ 


         
จากนั้น โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ก็ได้สืบทอดอำนาจต่อจากโนบุนากะ รวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จในปี พ.ศ.2133  ช่วงแรกเขาสนับสนุนนักสอนศาสนาชาวตะวันตกเป็นอย่างดี จนกระทั่งวันหนึ่งกะลาสีฝรั่งพูดในร้านเหล้าว่า รัฐบาลของเขาอาศัยพวกบาทหลวงเป็นแนวหน้า ในการล่าอาณานิคม ที่ใดชาวพื้นเมืองนับถือคริสต์ศาสนามาก ก็ชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นทางจิตใจ  ถ้าเกิดสงครามขึ้นแล้ว พวกเหล่านี้จะเป็นสายลับช่วยกองทัพให้เข้ามาโจมตีบ้านเมืองของตน เมื่อฮิเด โยชิทราบเรื่องนี้ จึงออกคำสั่งกวาดล้างคริสต์ศาสนาให้สิ้นซาก

 
         
ยุคปิดประเทศ หลังจากฮิเดโยชิเสียชีวิตแล้ว โทะคุงะวะ อิเอะยะสุ ได้ครองอำนาจต่อโดยย้ายศูนย์กลางการบริหารแผ่นดินไปที่เมืองเอะโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) และได้ตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นในปี พ.ศ.2146 รัฐบาลโทะคุงะวะปกครองญี่ปุ่นอยู่ 260 ปี ยุคนี้ยังมีการติดต่อกับตะวันตกทางด้านการค้า  แต่ได้กำจัดนักบวชและคริสต์ศาสนิกชนอย่างรุนแรง เช่น ประหารชีวิต กำหนดโทษเผาทั้งเป็นและริบทรัพย์ผู้นับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาได้ขับไล่ชาวตะวันตกออกจากประเทศ สั่งห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าประเทศ ยกเว้นกลุ่มที่ได้รับอนุญาตบางกลุ่ม ตั้งแต่นั้นญี่ปุ่นจึงเข้าสู่ยุคปิดประเทศ สถานการณ์พระพุทธศาสนายุคนี้ก็ซบเซา เพราะถูกรัฐบาล   แทรกแซง และให้การสนับสนุนศาสนาขงจื้อแทน 


         
ยุคเมจิถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นปิดประเทศอยู่ประมาณ 250 ปี เปิดประเทศอีกครั้งหลังจาก การมาเยือนของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2396 ยุคนี้ระบบโชกุนอ่อนแอลงมากและสิ้นอำนาจลงในสมัยพระจักรพรรดิเมจิ (พ.ศ.2411 - 2455) สมัยนี้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ามาก ด้วยระยะเวลาเพียง 30 ปีแห่งการพัฒนาประเทศตามตะวันตก ญี่ปุ่นได้กลายเป็นยุโรปแห่งตะวันออก  มีกำลังทางเศรษฐกิจและทางทหารพรั่งพร้อม จนสามารถจมกองทัพเรือรัสเซียในทะเล ญี่ปุ่นได้ทั้งกองทัพ  


         
ยุคนี้ลัทธิชินโตได้รับความนิยม เพราะคำสอนยกย่องพระจักรพรรดิให้เป็นอวตารของเทพเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนากลับเสื่อมโทรม มีการห้ามตั้งนิกายใหม่ ห้ามสร้างวัดเพิ่ม พิธีกรรม ความเชื่อและวัตถุที่เคารพในพระพุทธศาสนาถูกยกเลิกจากพระราชสำนักทั้งหมด ประกาศให้ ยึดวัดมาสร้างเป็นโรงเรียน โรงงาน บังคับให้ชีไปมีสามี ด้วยแรงกดดันนี้ทำให้พุทธบริษัทมีความตื่นตัวและปฏิรูปพระพุทธศาสนาเพื่อ ความอยู่รอดดังนี้
         1.
สร้างโรงเรียนขึ้นในวัดใหญ่ๆ บางวัด และสร้างวิทยาลัยอาชีวะชั้นสูงด้วย
         2.
สร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น  โดยรวบรวมทุนจากวัดใหญ่ๆ หลายวัด หรือรวบรวมทุนระหว่างนิกาย เช่น นิกายเท็นไดกับนิกายชิน มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นที่สร้างโดยทุนของพระพุทธศาสนายุคนั้นมี 13 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยโอตานิ
         3.
บำเพ็ญงานด้านสาธารณกุศล ด้วยการสร้างโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์คนทุพพลภาพ สถานสงเคราะห์เยาวชน องค์กรจัดหางานให้แก่คนตกงาน วัดใหญ่ๆ หลายวัดรวมทุนกันสร้างบริษัทการค้า โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อได้กำไรมาแล้วก็นำมาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา
         4.
ส่งเสริมการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง  จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คือ ฉบับไทโช ตีพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ปีละหลายล้านเล่ม ความรู้ทางพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่นจึงก้าวหน้ามาก 


        
เมื่อมีการปฏิรูปเช่นนี้ ทำให้ฐานะพระพุทธศาสนาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลไม่กล้า แตะต้องกิจการภายใน ในที่สุดการคุกคามพระพุทธศาสนาจึงยุติไปโดยปริยาย และหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลแมคอาเธอร์ สั่งยุบศาสนาชินโต เพราะถือเป็นศาสนาเพาะวิญญาณสงคราม จึงทำให้พระพุทธศาสนาหมดคู่แข่งอย่างเป็นทางการไปหนึ่งศาสนา ซึ่งได้ต่อสู้ทางอุดมการณ์กันมายาวนานนับพันปี ถึงแม้จะไม่อาจลบเลือนไปจากจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นได้เสียทีเดียว  


         
ทุกวันนี้คู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวกว่าชินโตมากคือ วัฒนธรรมตะวันตก ที่นับวันจะหลั่งไหลเข้าไปยังญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ วัฒนธรรมเหล่านี้ส่งเสริมให้คนติดในวัตถุ ความสะดวกสบายและสนุกสนานเพลิดเพลินจนละทิ้งศาสนา เยาวชนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่นให้เวลากับการคุยโทรศัพท์มือถือ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่มเกมคอมพิวเตอร์ เดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า มากกว่าเวลาอ่านหนังสือ หลายต่อหลายคนเล่นเกมจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนมีข่าวเด็กช็อกตายหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ แล้วเยาวชนยุคนี้จะเอาเวลาที่ไหนมาสนใจพระพุทธศาสนาเพราะแม้แต่เวลานอนยัง ไม่มี

 
         
ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นยังนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่กับศาสนาชินโต โดยพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหลายนิกาย นิกายที่สำคัญมี 5 นิกาย คือ
         1.
นิกายเทนได หรือเทียนไท้ หรือสัทธรรมปุณฑริก พระไซโจเป็นผู้ตั้ง โดยตั้งชื่อนิกายตามชื่อภูเขาเทียนไท้ในประเทศจีน ซึ่งเป็นสำนักที่ท่านไปศึกษา
         2.
นิกายชินงอน หรือตันตระ พระคูไคเป็นผู้ตั้งในเวลาใกล้เคียงกับนิกายเทนได     นิกายนี้ยึดคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นหลัก ถือว่าพระไวโรจนพุทธเจ้าเป็นที่เคารพสูงสุด นอกจากนี้ นิกายนี้ยังประสานคำสอนเข้ากับลัทธิชินโต สามารถยุบวัดชินโตเป็นวัดชินงอนได้หลายวัด
         3.
นิกายโจโด หรือสุขาวดี โฮเน็นเป็นผู้ตั้ง นิกายนี้สอนว่าสุขาวดีเป็นแดนอมตสุข   จะไปถึงได้ด้วยการออกพระนามพระอมิตาภพุทธะ โจโดยังมีนิกายย่อยอีกมาก เช่น โจโดชิน  หมายถึง สุขาวดีแท้ ตั้งโดยชินแรน มีคติว่า "ฮิโชฮิโชกุ ไม่มีพระไม่มีฆราวาส" ทำให้พระในนิกายนี้มีภรรยาได้ ฉันเนื้อได้ มีความเป็นอยู่คล้ายฆราวาส
         4.
นิกายเซน หรือฌาน นิกายเซนเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌานที่เรียกว่า ซาเซน นิกายนี้คนชั้นสูงและพวกนักรบนิยมมาก เซนมีนักวิชาการคนสำคัญคือ ดร.ดี ที ซูสุกิ (พ.ศ.2433-2509) เป็นผู้บุกเบิกเผยแผ่เซนให้เป็นที่รู้จักในตะวันตก ด้วยการแต่งตำราและแปลคัมภีร์เป็นภาษาอังกฤษ
         5.
นิกายนิชิเร็น พระนิชิเร็นเป็นผู้ตั้ง นิกายนี้นับถือสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างเดียว โดยภาวนาว่า นะมุ เมียวโฮ เรงเง เคียว (นโม สทฺธมฺมปุณฺฑริก สุตฺตสฺส แปลว่า ขอนอบน้อมแด่ สัทธรรมปุณฑริกสูตร) เมื่อเปล่งคำนี้ออกมาด้วยความรู้สึกว่ามีธาตุพุทธะอยู่ในใจ ก็บรรลุโพธิญาณได้

 
         
โซกะ กัคไค (Soka Gakkai) เป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในสายนิชิเร็น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 12 ล้านคนใน 190 ประเทศทั่วโลก โดยมี ไดซาขุ อิเคดะ เป็นผู้นำองค์กร โซกะ กัคไค แปลว่า สมาคมสร้างสรรค์คุณค่า


 
         
การเผยแผ่ของนิกายนี้ใช้ยุทธวิธี ชากุบุกุ แปลว่า ทำลายแล้วครอบครอง หมายความว่าทำให้มองเห็นข้อผิดพลาดในหลักคำสอนเก่าจนไม่เชื่อถือแล้วให้ เปลี่ยนมานับถือนิกายนิชิเร็น วิธีเข้านิกายนี้คือ ทำลายรูปเคารพในศาสนาหรือนิกายเดิมของตนแล้วไปเข้าวัดที่อยู่ใกล้ เพื่อทำพิธีประมาณ 25 นาที พร้อมรับมอบโงฮอนวอน มาตั้งบูชาที่บ้านตน และสวด นะมุ เมียวโฮ เรงเง เคียว ทุกวัน ตอนเช้า 5 ครั้ง ตอนค่ำ 3 ครั้ง 


         
การบริหารของสมาคมเน้นความเป็นทีม สมาชิกต้องเป็นหนึ่งเดียวไม่มีการโต้แย้ง   หมู่คณะจะเข้มแข็งมั่นคงได้ด้วยศรัทธาเป็นฐานและเป็นจุดศูนย์รวม บุคคลเป็นเพียงส่วนประกอบและมีความหมายเพียงช่วยให้เกิดการกระทำของส่วนรวม 


         
นิกายนี้จะสร้างรัฐซ้อนขึ้นในรัฐ  โดยสมาชิกประมาณ 20-30 ครอบครัว  รวมกันเป็น กลุ่มเรียกว่า Squad ถ้ารวมได้ 6 Squad เรียกว่า Company ถ้ารวมได้ 10 Company เรียกว่า District ถ้ารวมหลายๆ District เรียกว่า Religion Chapter หรือภาค แต่ละหน่วยเหล่านี้มีการประชุมกันเป็นประจำเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทาง ศาสนาซึ่งกันและกัน 


         
ในด้านเยาวชนมีการสอนธรรมภาคฤดูร้อน แจกตำราเกี่ยวกับหลักธรรมของนิกาย   และจัดสอบประจำปี เมื่อสอบได้ก็รับคุณวุฒิตามลำดับชั้น 


         
ปัจจุบัน โซกะ กัคไค มีบทบาทสำคัญในการเมืองญี่ปุ่น  เพราะมีบุคคลชั้นนำของนิกายนี้เป็นเลขาธิการพรรคการเมืองชื่อ พรรคโกเมอิโต โดยมีนโยบายที่เป็นประชาธิปไตยแบบพระพุทธศาสนา พรรคนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีอิทธิพลเป็นอันดับสามของประเทศ
 
4.
ประเทศทิเบต

 
         
ทิเบต (Tibet) ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลกจนได้รับฉายาว่า หลังคาโลก ปัจจุบันทิเบตเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน หลังจากถูกยึดครองในปี พ.ศ.2494 องค์ทะไล ลามะ เท็นซิน กยัตโซ ผู้นำทิเบตจึงเสด็จลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ ณ ธรรมศาลา ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.2502 โดยมีชาวทิเบตประมาณ 80,000 คนติดตามไปด้วย

 
         
ในอดีตก่อนการยึดครองของจีน ทิเบตได้รับฉายาว่า "แดนแห่งพระธรรม" (Land of Dharma) ปัจจุบันก็ยังหลงเหลือภาพนี้อยู่ แม้จะมัวหมองไปมากหลังจากเป็นเมืองขึ้นของจีน   ชาวทิเบตนิยมบวชเป็นพระภิกษุ เฉพาะในลาซา เมืองหลวงของทิเบต มีพระอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของพลเมืองทั้งหมด  นอกเมืองหลวงก็มีอยู่จำนวนมาก  แต่ละวัดมีพระอยู่หลายพันรูป เช่น วัดเซรา มี 7,000 รูป วัดไคปุงมี 5,000 รูป วัดกันดันมี 3,000 รูป เป็นต้น ชาวทิเบตถือว่า 3 วัดนี้เป็นประดุจเสาค้ำชาติ 3 ต้น เหตุที่กุลบุตรออกบวชกันจำนวนมาก เพราะทิเบตมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ แต่ละครอบครัวจะต้องอุทิศบุตรชายอย่างน้อย 1 คน ให้บวชเป็นพระตลอดชีวิต 


         
ศาสนาในทัศนะของชาวทิเบต ไม่ใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ให้คนคอยปฏิบัติตาม แต่ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ดังที่ท่านสังฆรักขิตะกล่าวว่า พระพุทธศาสนาในทิเบตคือวิถีชีวิต ทั้งชีวิตของชาวทิเบตคือพระพุทธศาสนา  สภาพแวดล้อมคือพระพุทธศาสนา ทุกอณูของพื้นแผ่นดินทิเบต เราจะเห็นเฉพาะภาพพระพุทธศาสนา

 
         
ชาวทิเบตให้ความสำคัญกับการสวดมนต์มาก โดยเฉพาะบทสวดที่ชาวโลกคุ้นเคยกันดี คือ โอม มณี ปัทเท หุม อันเป็นมนต์ หรือมันตระแห่งความกรุณา พวกเขาเชื่อว่าถ้าสวดได้ถึง 600,000 จบ จะทำให้บรรลุพระนิพพาน แต่ละคนจะมีลูกประคำ 108 ลูกประจำตัว เพื่อเป็นอุปกรณ์ช่วยในการสวดมนต์ อิทธิพลของพระพุทธศาสนาทำให้ชาวทิเบตมีนิสัยอ่อนน้อม ฉายภาพแห่งความเมตตากรุณาออกมาตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในอดีตชาวทิเบตมีนิสัยโหดร้าย บางครั้งถึงกับกินเนื้อคนเลยทีเดียว


 
         
ในสมัยพุทธกาล ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย อยู่ในอาณาเขตแคว้นโกศล ป่ามหาวัน ที่อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ มีบริเวณด้านเหนือครอบคลุมถึงภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของทิเบตในปัจจุบัน พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาสมยสูตรและมธุปิณฑิกสูตร ณ ป่ามหาวัน ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเข้าสู่ทิเบตตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ต่อมาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูต 9 สายไปประกาศพระศาสนา โดยสายของพระมัชฌิมเถระและคณะได้เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนา ณ บริเวณเทือกเขาหิมาลัยนี้  


         
ต่อมาปี พ.ศ.976 กษัตริย์ลาโธ โธรี เย็นเซ (พ.ศ.900 - 1100) ได้รับเครื่องบรรณาการจากตัวแทนอินเดีย อันมีคัมภีร์พระพุทธศาสนาและพระพุทธรูปด้วย พระองค์จึงเป็นกษัตริย์ทิเบตพระองค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา ช่วงนี้พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลายเพราะลัทธิบอน  อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวทิเบตยังมีอิทธิพลอยู่มาก

 
         
เมื่อพระเจ้าซองเซน กัมโป ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.1160 - 1241) ทรงทำสงครามกับจีนและตีเมืองเสฉวนได้  พระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้จึงปรารถนาจะผูกมิตรกับทิเบตด้วยการยกเจ้าหญิงใน ราชสกุลองค์หนึ่งพระนามว่า บุ้นเซ้งกงจู้ ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าซองเซน กัมโป ต่อมาเมื่อทิเบตรุกรานเนปาล กษัตริย์เนปาลจึงขอผูกไมตรีด้วยการยกพระธิดาชื่อ กฤกุฏีเทวี ให้เป็นมเหสีของพระองค์เช่นกัน  ราชธิดาทั้งสองได้อัญเชิญพระพุทธรูปและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเข้าไปในทิเบต ด้วย ทั้งสองพระองค์ได้ชักจูงให้พระสวามีนับถือพระพุทธศาสนา


 
         
พระเจ้าซองเซน กัมโปทรงส่งที่ปรึกษาราชสำนักคนสำคัญชื่อ ทอนมี สัมโภตะ พร้อมคณะอีก 12 คน ไปศึกษาพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย ทอนมี สัมโภตะและคณะได้นำอักษรสันสฤตมาเป็นต้นแบบในการประดิษฐ์อักษรและไวยากรณ์ ภาษาทิเบตขึ้น และได้แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบตด้วย หลังจากนั้นชาวทิเบตจึงได้ศึกษาพระพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ.1173 พระเจ้าซองเซน กัมโปประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และทรงสร้างพุทธสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระราชวังโปตาลา และวัดโจคัง เป็นต้น

 
         
หลังจากรัชสมัยพระเจ้าซองเซน กัมโปแล้ว ลัทธิบอนกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง ได้ข่มพระพุทธศาสนาโดยอ้างฤทธิ์เดชต่างๆ ของลัทธิตน จนกระทั่งพระเจ้าธริซอง เดทเซน ขึ้นครองราชย์  (พ.ศ.1333 - 1401) พระองค์ทรงอาราธนาพระคุรุปัทมสัมภวะ แห่งลัทธิมนตรยาน ผู้รู้เวทมนตร์มากให้มาปราบลัทธิบอน ท่านคุรุปัทมสัมภวะใช้เวลา 1 ปีกว่า จึงปราบได้หมดแล้วตั้งนิกายเนียงม่า (Nyiangma) หรือนิกายหมวกแดง และสร้างวัดสัมเยขึ้นเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา


 
         
นอกจากนี้ พระเจ้าธริซอง เดทเซนยังนิมนต์พระนิกายสรวาสติวาทมา 12 รูป แล้วคัดเลือกชาวทิเบตให้มาบรรพชาอุปสมบท 5 คน ต่อมามีชาวทิเบตอีก 300 คน ทั้งชายและหญิงมาบรรพชาอุปสมบทด้วย พระเจ้าธริซอง เดทเซนทรงตรากฎหมายให้มีการสนับสนุนด้านต่างๆ แก่พระภิกษุสามเณร จึงเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนา

 
         
พระเจ้าธริ รัลปาเชน (พ.ศ.1409 - 1444) ครองราชย์เป็นกษัตริย์ทิเบตพระองค์ต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ถึงกับสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายพระองค์ ทรงแต่งตั้งชาวพุทธให้ดำรงตำแหน่งทางราชการเป็นจำนวนมาก และมีการลงโทษผู้ที่ไม่มีเคารพพระสงฆ์ด้วย ทำให้พวกลัทธิบอนหรือผู้ที่เสียผลประโยชน์ไม่พอใจมาก ด้วยเหตุนี้พวกนี้จึงลอบปลงพระชนม์พระองค์เสีย

 
         
พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมายาวนานเพราะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ทุกพระองค์ ที่ผ่านมา แต่เมื่อพระเจ้าลัง ดาร์ม่า (พ.ศ.1444 - 1449) ขึ้นครองราชย์ พระองค์นับถือลัทธิบอน จึงพยายามทำลายพระพุทธศาสนา บังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา พระภิกษุต้องหลบออกไปอยู่ในชนบท ภิกษุรูปหนึ่งอดรนทนไม่ไหวจากการกระทำของพระองค์ จึงแต่งตัวด้วยชุดดำ สวมหมวกสีดำเข้าไปปะปนกับชาวเมือง แล้วลอบปลงพระชนม์พระเจ้าลัง ดาร์ม่าเสีย

 
         
ต่อมาในปี พ.ศ.1577 - 1581 ทิเบตได้อาราธนาพระทีปังกรศรีชญาณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาแห่งอินเดีย ให้มาช่วยปฏิรูปพระพุทธศาสนาและก่อตั้งนิกายลามะ (Lamaism) ในทิเบต พุทธศตวรรษที่ 16 นี้มีการส่งคนไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาก มีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบต สร้างวัด และนิมนต์นักปราชญ์อินเดียไปทิเบตหลายท่าน ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง

 
         
ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ท่านตสองขะปะได้สร้างวัดกันดัน ใกล้กับลาซาและตั้งนิกายเกลุกหรือนิกายหมวกเหลืองขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติวินัยให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น  เพราะลามะในนิกายเนียงม่าส่วนมากเลอะเทอะมีลูกมีเมียในวัด แต่นิกายเกลุกห้ามเด็ดขาด  นอกจากนี้ท่านยังรวบรวมคัมภีร์ที่ได้แปลเป็นภาษาทิเบตขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 หมวด คือ พุทธพจน์ 100 เล่ม และอรรถกถา 225 เล่ม คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า พระไตรปิฎก หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนาฉบับทิเบต ซึ่งได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ลูกศิษย์ของท่านตสองขะปะได้สร้างวัดใหญ่ขึ้น คือ วัดเซรา วัดไคปุงและวัดตชิลุมโป และที่สำคัญ ท่านตสองขะปะยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสืบทอดอำนาจโดยการกลับชาติมาเกิด ด้วย


 
         
กำเนิดองค์ทะไล ลามะ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 อัลตันข่านแห่งมองโกลบุกยึดทิเบต และมีโอกาสได้พบกับโซนัม กยัตโซ ประมุขสงฆ์นิกายเกลุก องค์ที่ 3 อัลตันข่านเกิดความเลื่อมใสยิ่งนักจึงถวายตำแหน่ง ทะเล ให้แก่ท่าน ชาวทิเบตออกเสียงว่า ทะไล (Dailai) โซนัม กยัตโซได้ถวายตำแหน่งทะไล ลามะ ย้อนหลังขึ้นไปในสองชาติแรกของท่านด้วย ซึ่งก็คือประมุขสงฆ์นิกายเกลุกองค์ที่ 1 และ 2 นั่นเอง ยุคของทะไล ลามะ องค์ที่ 4 นิกายเกลุกก็เจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิม เพราะกองทหารมองโกลหนุนหลังอยู่ 


  
         
สมัยทะไล ลามะ องค์ที่ 5 โลซัง กยัตโซ (พ.ศ.2158 - 2223) การเมืองในทิเบตปั่นป่วน เกิดการแย่งชิงบัลลังก์กันในนครลาซา  กุชรีข่าน  ผู้นำมองโกลจึงเข้ามาช่วยปราบปราม จากนั้นจึงมอบอำนาจการปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรให้แก่ท่านโลซัง กยัตโซ    ทะไล ลามะ องค์ที่ 5 จึงเป็นจุดเริ่มต้นระบอบการปกครองที่มีพระเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ท่านโลซัง กยัตโซ ทรงทำให้ชาวมองโกลเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ และทรงสร้างต่อเติมพระราชวังโปตาลาให้ใหญ่โตกว่าเดิม 


         
องค์ทะไล ลามะในปัจจุบัน เป็นองค์ที่ 14 พระนามว่า เท็นซิน กยัตโซ พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เนื่องจากทิเบตถูกกองทัพจีนยึดครองในปี พ.ศ.2494 พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยมาอยู่ประเทศอินเดียในปี พ.ศ.2502 เหตุการณ์นี้ทำให้ทิเบตและพระพุทธศาสนาแบบทิเบตเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวตะวันตก ในสหรัฐอเมริกามีชาวพุทธทิเบตอยู่ประมาณ 5,000,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนิกายหมวกเหลืองหรือเกลุก

 
         
องค์ทะไล ลามะ องค์ปัจจุบันได้มาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ.2536 เพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในการนี้รัฐบาลจีนได้เตือนประเทศไทยว่า ไม่ควรออกวีซ่าให้องค์ทะไล ลามะ เพราะว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนจีนตลอดมา แต่รัฐบาลไทยก็ออกวีซ่าให้ โดยมีเหตุผลว่าเป็นเมืองพุทธ ไม่มีเหตุอันควรที่จะสกัดกั้นพระที่จะเข้าประเทศ นอกเสียจากมาก่อเหตุร้ายเท่านั้น แต่ด้วยกระแสกดดันจากจีนเมื่อองค์ทะไล ลามะเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีวัดไหนกล้าให้ที่พักแก่ท่าน ในครั้งนั้น หลวงพ่อปัญญานันทะ วัดชลประทาน ได้อาสาให้พระองค์พักที่วัดท่าน แต่สุดท้าย วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปพักที่นั่นในฐานะเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชประมุขสงฆ์ไทย
         
ปัจจุบันพระพุทธศาสนามหายานในทิเบตเป็นแบบวัชรยานหรือตันตระ โดยมีนิกายสำคัญมี 4 นิกาย คือ เนียงม่า กาจู สักยะ และเกลุก
         1.
นิกายเนียงม่า ผู้ก่อตั้ง คือ คุรุปัทมสัมภวะ ท่านแบ่งคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็น นวยาน พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีแดง
         2.
นิกายกาจู อาจารย์ทุงโป ญาลจอร์ และมาร์ปะโชคี โลโด เป็นผู้ก่อตั้งโดยยึดหลักคำสอนสายทั้ง 4 ของตันตระคือ กายมายา การสืบทอดวิญญาณ ความฝัน และแสงสว่าง      บางครั้งนิกายนี้เรียกว่า นิกายหมวกดำ เพราะเวลาประกอบพิธีพระนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีดำ
         3.
นิกายศากยะ ก่อตั้งโดยท่านคอนจ็อก เจลโป มีคำสอนสำคัญคือ ธรรมทอง 13 ข้อ และคำสอนลัมเดร (Lamdre) หลักแห่งมรรคและผล ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างบริสุทธิ์และศูนยตา โดยสาระคือความแยกกันไม่ได้ระหว่างสังสารวัฏและนิพพาน พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกหลายสี
         4.
นิกายเกลุก ผู้ก่อตั้งนิกายนี้ คือ อาจารย์ตสองขะปะ นิกายนี้มุ่งในด้านความเคร่งครัดทางวินัย  การศึกษาพระสูตรและตันตระจะใช้วิธีการวิเคราะห์โดยผ่านทางตรรกวิภาษ พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีเหลือง


 
         
พระราชวังโปตาลา ตอนเริ่มต้นสร้างเป็นเพียงวังเล็กๆ ต่อมามีการก่อสร้างต่อเติมขึ้นเรื่อยๆ นับร้อยปี จนเป็นพระราชวังที่ใหญ่โตมโหฬารมีพื้นที่ครอบภูเขาไว้ทั้งลูก พระราชวังโปตาลาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณชาวทิเบต หลังคาประดับด้วยกระเบื้องทองคำ และมีพระเจดีย์หุ้มทองคำเรียงรายกันอยู่ชั้นบนสุด มีห้องต่างๆ กว่า 1,000 ห้อง เช่น ห้องประชุมรัฐสภา  มีโซนมหาวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาลัยการแพทย์ ชาวทิเบตทุกคนที่เดินทางมาเยือนในวินาทีแรกที่เห็นยอดพุทธวิหารทองคำทุกคนจะ คุกเข่าลงสวดมนต์

 
         
วัดโจคัง เป็นวัดแรกในทิเบต เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทิเบตใฝ่ฝันที่จะจาริกไปแสวงบุญให้ได้สัก ครั้งในชีวิต พระเจ้าซองเซน กัมโปทรงสร้างวัดโจคังขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธานโจโวศากยมุนี พระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในทิเบต ได้รับการอัญเชิญมาโดยมเหสีชาวเนปาลของพระองค์ ปัจจุบันวัดโจคังเจริญรุ่งเรืองมาก จะมีนักแสวงบุญนับ 1,000 คนกระทำประทักษิณและสวดมนต์ทุกวันทุกเวลา  


         
ผู้จาริกแสวงบุญ แต่ละปีมีผู้แสวงบุญจำนวนมากไปเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในทิเบตโดยเฉพาะพระราชวังโปตาลา และวัดโจคัง สำหรับชาวทิเบตแล้วการจาริกแสวงบุญไปยังวัดโจคังถือเป็นความปรารถนาสูงสุด และต้องเดิมพันกันด้วยชีวิตทีเดียว เพราะชาวทิเบตจำนวนมากใช้วิธีเดินทางไปด้วยเท้า  และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงก่อนจะถึงวัดโจคัง เพราะไม่อาจทนต่อสภาพอากาศที่โหดร้ายได้ โดยเฉพาะอากาศอันหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง    บางครั้งติดลบถึง 40 องศา

 
         
เส้นทางแห่งการหยั่งรู้ ดันจู เป็นหนึ่งในนักเดินทางแสวงบุญนี้ จุดมุ่งหมายของเขานอกจากสร้างบุญให้กับตนเองแล้ว ดันจูออกจาริกเพื่อไถ่บาปให้พ่อที่ทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เขายังเด็ก เส้นทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ระหว่างชิงไฮ (Qinghai) บ้านของเขาและวัดโจคังคือ สิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่  โจมาและใบมา คือแม่กับน้องสาวผู้คอยดูแลเขาตลอดการเดินทาง ดันจูท่องบทสวดมนต์ย่างเท้าไปข้างหน้าและนอนกราบเหยียดยาวบนหิน กรวด น้ำแข็ง และหิมะตลอดการเดินทาง  มีเพียงศรัทธาเท่านั้นที่ผลักดันเขาไปข้างหน้า  ดังจูไม่ได้คิดถึงจุดหมายเลย เขานึกถึงแต่วัตถุประสงค์และความหมายของแต่ละครั้งที่ก้มกราบลงบนถนน อันเปรียบประดุจเส้นทางแห่งการหยั่งรู้ ระดับความสูงกว่า 4,000 เมตร และอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ทำให้ทุกคนอ่อนล้า แต่ในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จหลังจากเดินทางมากว่า 2 ปี โจมาได้แต่นั่งน้ำตาไหลด้วยความปีติเมื่อเห็นยอดพระราชวังโปตาลาแห่งนครลาซา ดันจูใช้เวลาทั้งวัน  สวดมนต์และกราบพระพุทธรูปทุกองค์ในวัดโจคัง การกราบแต่ละครั้งหมายถึงจุดสิ้นสุดแห่งการเดินทางอันยิ่งใหญ่ หลังจากพวกเขากลับไปถึงหมู่บ้านแล้ว คนทั้งหมู่บ้านออกมาต้อนรับด้วยความปีติ พระผู้ใหญ่แห่งวิหารซีในชิงไฮรับดันจูเป็นลามะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความหวังอันสูงสุดในชีวิตเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น